นสพ.ประชาชาติธุรกิจ -ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนมีความเคลื่อนไหวขนานใหญ่ ในแง่การเปิดเกมรุกสร้างเครือข่าย ทั้งซื้อกิจการและสร้างใหม่ โดยเฉพาะการควบรวมที่ทำให้การแข่งขันทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากการกว้านซื้อกิจการของรายใหญ่แล้ว ภาพหนึ่งที่เห็นในขณะนี้คือ การร่วมมือทางการแพทย์ ระหว่างโรงพยาบาลเครือข่ายขนาดใหญ่และโรงพยาบาลขนาดกลางหรือเล็ก ที่เริ่มเห็นหนาตาขึ้นในช่วงนี้
ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวคือ โรงพยาบาลบางโพ ย่านบางซื่อ ที่จับมือกับโรงพยาบาลกรุงเทพเปิดศูนย์สุขภาพหัวใจ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักของยักษ์ใหญ่รายนี้ หรือกรณีของโรงพยาบาลฟัน สุขุมวิท เข้ามาเปิดให้บริการในโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ และล่าสุดโรงพยาบาลนครธนที่ผนึกกำลังกับจีรัง เฮลธ์ วิลเลจ จัดคอร์สดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฎร์และเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ ฉายภาพว่า ความร่วมมือกันด้านบริการทางการแพทย์เป็นอีกโมเดลหนึ่ง เรียกว่า เซอร์วิสเมอร์จิ้ง โมเดล (Service Merging) ที่ยังไม่ถึงขั้นลงทุนหรือควบรวม แต่เป็นความร่วมมือในด้านการบริการระหว่างกัน
โดยโรงพยาบาลที่นำเซอร์วิสเข้าไปสามารถขยายฐานลูกค้า ขณะที่โรงพยาบาลที่ให้เข้าไปร่วมลงทุนก็เป็นการอุดช่องว่างในแง่บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางซึ่งหายาก ทำให้เกิดความครบถ้วนในแง่การให้บริการ โดยเชื่อว่าจะเห็นภาพดังกล่าวมากขึ้นหลังจากนี้
"บิสซิเนสโมเดลของโรงพยาบาลวันนี้เปลี่ยนไป ภาพของการควบรวมจะ น้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะโรงพยาบาลดี ๆ ให้ซื้อก็น้อยลง ที่เหลืออยู่ก็ไม่มีความต้องการขาย หลังจากที่ผ่านมาเน้นซื้อขายกิจการกันอุตลุด ดังนั้นเชื่อว่าแนวทางขยายของแต่ละค่ายจากนี้จะเน้นสร้างใหม่เพื่อ ตอบโจทย์ด้านศักยภาพ"
น.พ.เฉลิมกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ยักษ์ใหญ่หลายค่ายหันมาใช้วิธีผนึกกำลังในแง่เซอร์วิส โดยไม่จำเป็นต้องเกิดการซื้อขาย ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับเออีซีที่จะเกิดขึ้น
"ระบบบริหารโรงพยาบาลมีลักษณะคล้ายกับศูนย์การค้า คือรวบรวมบริการ ดี ๆ มาไว้ในศูนย์ ดังนั้นทิศทางของกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ในอนาคตจะคล้ายกับการบริหารศูนย์การค้า คือคัดสรรทั้งแพทย์และบริการทางการแพทย์เข้ามาไว้ในที่เดียวกัน"
น.พ.เฉลิมยกตัวอย่าง ปัจจุบัน โรงพยาบาลเกษมราษฎร์มีการส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเข้าไปนั่งให้คำปรึกษากับโรงพยาบาลพันธมิตร 40 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและภาคกลาง ซึ่งทำมาเกือบ 10 ปี โฟกัสโรคหัวใจ ซึ่งโรงพยาบาลบางแห่งขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านนี้
ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลฟัน สุขุมวิท ถือเป็นสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ การเข้ามาเปิดในเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ก็ช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน ซึ่งมีแผนที่จะขยายร่วมกันในสาขาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตยังสนใจร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนอื่น ๆ เพื่อขยายความร่วมมือทางเรื่องแล็บ
สอดคล้องกับ น.พ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน มองว่า การลงทุนของโรงพยาบาลเครือข่ายจะมีความยืดหยุ่นตลอดเวลาเพื่อเข้าถึงทุกพื้นที่ ขณะที่ความร่วมมือทางการแพทย์ช่วยตอบโจทย์โรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งใช้การลงทุนค่อนข้างสูง
"โรงพยาบาลใหญ่ทำทุกกลยุทธ์ในการสร้างพื้นที่ให้เต็ม กลยุทธ์ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ยืดหยุ่นได้ตลอด"
สำหรับความร่วมมือกับ จีรัง เฮลธ์ วิลเลจ จัดคอร์สดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เป็นการต่อยอดบริการด้านแพทย์ทางเลือก ทั้งแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน รองรับคนไข้ที่ต้องการพักผ่อนหรือส่งเสริม สุขภาพเป็นเวลาหลายวัน ด้านการแพทย์แผนปัจจุบันก็ร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายขนาดใหญ่ ปรึกษาเชิงวิชาการและส่งต่อคนไข้ เป็นต้น
น.พ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, ประธาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ได้ทดลองโมเดลการลงทุนรูปแบบใหม่ เป็นความร่วมมือทางการแพทย์กับ โรงพยาบาลเอกชนนอกเครือข่าย จากเดิมที่มีเฉพาะในเครือข่าย นำร่องกับ โรงพยาบาลบางโพ เปิดศูนย์สุขภาพหัวใจ ถ้าประสบความสำเร็จก็จะขยายไปสู่บริการอื่น ๆ รวมทั้งเพิ่มพันธมิตรรายใหม่ ๆ
จากแนวทางดังกล่าวจะทำให้สามารถขยายบริการของโรงพยาบาลกรุงเทพให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเข้าไปเติมเต็มในทำเลซึ่งยังไม่มีโรงพยาบาลกรุงเทพตั้งอยู่
"เราต้องการเป็นศูนย์กลางผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ให้โรงพยาบาลพันธมิตร เพื่อยกระดับการรักษา นอกจากนี้ยังสามารถครอบคลุมทำเลที่ยังไม่ได้เข้าไป ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด"
วันนี้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร พฤติกรรมของคนที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดต่างประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามารักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดเออีซีในปี 2558 ที่จะมีคนไข้ต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น แต่การแข่งขัน ก็จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มทุนต่างชาติที่สามารถเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น
ธุรกิจโรงพยาบาลในวันนี้จึงเป็นภาพของการขยายเครือข่าย โดยเฉพาะรายใหญ่เพื่อให้เกิดความพร้อมในการแข่งขันให้มากที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 10 พ.ย. 2556
- 226 views