ชมรมแพทย์ชนบทเผยแพร่บทความเรื่อง “ครบรอบหนึ่งปี รมต.ประดิษฐ ความเสื่อมสลายของระบบสุขภาพในอุ้งมือมาร” ทาง facebook ของชมรมแพทย์ชนบท สำนักข่าว Hfocus : เจาะลึกระบบสุขภาพ ขอนำมาเผยแพร่ดังนี้
บทความ “ครบรอบหนึ่งปี รมต.ประดิษฐ ความเสื่อมสลายของระบบสุขภาพในอุ้งมือมาร”
ชมรมแพทย์ชนบท
ในยุคสมัยพรรคเพื่อไทย ต่อเนื่องตั้งแต่สมัย รมต.วิทยา บูรณศิริ จนถึง รมต.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้มีนโยบายและผลงานที่สร้างความเสียหายต่อระบบสุขภาพที่สำคัญได้แก่
นโยบายเมดิคัลฮับ ขยายการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนในการทำกำไรและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากโรงพยาบาลรัฐ ดึงต่างชาติมาใช้บริการ ทำให้เกิดปัญหาสมองไหลจากโรงพยาบาลภาครัฐ คนไทยทั้งในเมืองและในชนบทจะยังคงเผชิญความแออัดต่อไปและหนักกว่าเดิม เกิดการขาดบุคลากรทุกวิชาชีพขึ้นอีกหลังจากที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว หากนโยบายนี้เดินหน้าเต็มรูปแบบโรงพยาบาลรัฐเป็นโรงพยาบาลชั้นสอง ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขาดทันตแพทย์ เภสัช พยาบาลและสหวิชาชีพ คนจนจะลำบาก คนชั้นกลางก็ต้องเอาเงินที่เก็บออมไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพราะรับกับการไม่มีบุคลากรของโรงพยาบาลรัฐไม่ได้ หลักประกันสุขภาพไทยที่พัฒนามายาวนานจะสะดุดและเข้าสู่สภาพถดถอย
นโยบายการปฏิรวบ รวบอำนาจของ รมต.ประดิษฐ ทั้งการรวบอำนาจการจัดสรรงบจาก สปสช.มาให้ สธ. การกระชับอำนาจผ่าน 12 เขตสุขภาพ ทำให้อิสรภาพของการพัฒนาตามบริบทตามความสามารถของพื้นที่ต่างๆลดลงไป อำนาจถูกยึดกลับไปให้ส่วนกลาง ขั้นตอนการตัดสินใจกลับยาวขึ้นเพราะต้องไปผ่านคอขวดที่ระดับเขต
นโยบาย P4P ให้บุคลากรสาธารณสุขนับแต้มแลกเงิน เป็นนโยบายที่ได้รับการคัดค้านอย่างหนัก เพราะจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานจากการทำงานตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพไปเป็นทำงานแบบหวังเก็บแต้มแลกเงิน เสียเวลาการดูแลผู้ป่วย สร้างความแตกแยกไม่เกิดการทำงานเป็นทีม นโยบายถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจนำมาใช้เพื่อให้เกิดสมองไหล จะทำให้เอกชนได้คนไปทำงานโดยไม่ต้องซื้อตัว
นโยบายการฮุบการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. เพื่อนำงบประมาณไปจัดสรรเอง ผิดหลักการ purchaser-provider split ที่เป็นหลักธรรมภิบาลที่สำคัญ สุ่มเสี่ยงต่อการนำงบไปทุจริตได้โดยง่าย
·นโยบายการแทรกแซงตระกูล ส. ทั้ง สปสช. สสส. สช. สวรส. เพื่อทำงายตระกูล ส.ที่เป็นกลไกสุขภาพที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะมักค้านการกระจุกรวบอำนาจของรัฐบาลและประดิษฐอยู่เสมอ
·การปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ที่เป็นผู้อำนวยการที่ดีมีความสามารถ แต่หัวแข็ง ไม่ยอมทำตามสิ่งที่รัฐมนตรีขอ เนื่องจากผิดระเบียบการใช้เงินขององค์การเภสัชกรรม และการย้ายออกเอาคนที่ตนสั่งได้มาทำหน้าที่แทนจะทำให้กระทำการใดๆในองค์การเภสัชกรรมได้ง่ายขึ้น
การแต่งตั้งพวกพ้องที่มีมลทินมาเป็น ผอก.สวรส. โดยดันทุรังตั้ง ศ.นพ.สมกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ที่มีปัญหาการลักลอกลอกลงานวิชาการ ไม่มีคุณธรรมด้านการวิจัยและเป็นพวกพ้องที่จะเข้ามายึดองค์กรวิจัย เพื่อบิดเบือนงานวิจัยให้สนับสนุนแนวคิดแนวทางปฏิรวบของกระทรวงสาธารณสุข
การเพิ่มสองตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช.และนำพรรคพวกเข้ามารับตำแหน่ง โดยเฉพาะการแต่งตั้งคนของตนเองที่ไม่เคยมีผลงานเชิงประจักษ์ใดๆ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธิ์ อดีต สส.พรรคไทยรักไทยมาเป็นรองเลขาธิการ เพื่อหวังล้วงการจัดการและการรอขึ้นตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ต่อไป
การกำหนดนโยบายการบรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ผิดพลาด จากเดิมที่กำหนดให้จะมีการปรับลูกจ้างชั่วคราวทุกคนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่ด้วยการจัดการที่ผิดพลาด การวางแผนที่ไม่รอบคอบ ทำให้เกิดการเสียขวัญเสียกำลังใจจากลูกจ้าง 1.4 แสนคนที่ได้ตั้งความหวังไว้
การบรรจุนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 22,500 ราย ก็บรรจุได้เพียงปีแรก 7,500 รายทั้งๆที่มีมติ ครม.รองรับแล้ว แต่เพราะความผิดพลาดและล่าช้าในการจัดการกับ สำนักงาน กพ. จึงยังไม่สามารถบรรจุเพิ่มเติมได้
การโกหกต่อสาธารณะว่าข้าวถุงปลอดภัย ไม่มีสารรมมอดเกินมาตรฐาน จนเมื่อเมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกมาแฉ จึงออกมายอมรับในภายหลัง เมื่อจนด้วยหลักฐาน
ส่วนผลงานที่ดีมีเพียงเรื่องเดียว คือการออกประกาศเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% ของพื้นที่ซองบุหรี่ ก็แค่นั้น ทำงานทั้งปีมีผลงานดีเท่าหางอึ่ง ผลงานแย่เต็มบ้านเต็มเมือง
ทั้งหมดนี้คือความเสื่อมที่จะนำมาสู่ระบบสุขภาพในอุ้มมือประดิษฐ
- 45 views