ประชาชาติธุรกิจ -ซาโนฟี่ ปาสเตอร์เชื่อวัคซีนไทยสดใส ร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม-ทุนลัดดาวัลย์ สร้างโรงงานใหม่ หวังพัฒนาขีดความสามารถโรงงานขึ้นสู่ฮับอาเซียน ทุ่มงบฯ 700 ล้าน เร่งพัฒนาวัคซีนรวม เสริมศักยภาพสาธารณสุขไทย
นายเอมิน ตูราน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก หนึ่งในแผนกของซาโนฟี่กรุ๊ป เปิดเผยว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด หรือจีพีโอ-เอ็มบีพี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรม ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ และบริษัท ทุน ลัดดาวัลย์ จำกัด เซ็นสัญญาสำหรับการสร้างโรงงานผลิตตัวยาสำคัญสำหรับวัคซีนโรคตับอักเสบบี และผลิตวัคซีนรวม ป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนแบบไร้เซลล์-ตับอักเสบบี ในเข็มเดียว โดยใช้งบฯลงทุน 700 ล้านบาท
สำหรับสัดส่วนผู้ถือหุ้น แบ่งเป็นองค์การเภสัชกรรม 49% ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ 49% และบริษัท ทุนลัดดาวัลย์ อีก 2% ช่วงแรกจะแบ่งการลงทุน 450 ล้านบาท สำหรับการสร้างโรงงานที่มีสภาพเหมาะสมกับการผลิตวัคซีนบนพื้นที่ว่างบริเวณโรงงานผลิตวัคซีนเดิมภายในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา และใช้งบฯอีก 100 ล้านบาท สำหรับการศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดราคา ซึ่งทันทีที่เริ่มดำเนินการได้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 8 ปี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
"ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ไม่มีแนวคิดที่จะแยกตัวตั้งโรงงานผลิตวัคซีนเอง เพราะความร่วมมือจอยต์เวนเจอร์กับรัฐบาลไทยเป็นไปด้วยดี เราเน้นที่การร่วมพัฒนาวัคซีนเป็นหลัก สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตให้ประเทศไทย ตอนนี้มองเรื่องพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ และโฟกัสการพัฒนาและผลิตวัคซีนรวม ซึ่งถือเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ในขณะนี้"
ทิศทางของโรงงานผลิตวัคซีนของ จีพีโอ-เอ็มบีพี มุ่งเน้นการผลิตวัคซีนเอง เริ่มต้นจากการผลิตแบบปลายน้ำ คือการผสมและบรรจุ สู่การผลิตต้นน้ำ คือสามารถผลิตแอนติเจน ที่เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ของวัคซีนได้ โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งศักยภาพของประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางวัคซีนของภูมิภาคได้
ขณะนี้โรงงานสามารถผลิตวัคซีนป้อนให้กับภาครัฐ รวมทั้งการส่งออกไปยังประเทศอื่น อาทิ วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีรุ่นใหม่ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่ผลิตและส่งออกไปยังประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โดยมีแผนขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในอนาคต อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนตำรับวัคซีน
นายเอมินกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มความต้องการวัคซีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การพัฒนาระบบสาธารณสุข ทำให้เกิดความต้องการวัคซีนใหม่สำหรับโรคใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการปรับปรุงวัคซีนที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
สำหรับการจอยต์เวนเจอร์ในประเทศแถบเอเชีย นอกจากไทยแล้ว ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ยังมีการร่วมทุนที่ประเทศจีนอีกแห่ง แต่รูปแบบจะเป็นในส่วนการผลิตแบบปลายน้ำ แตกต่างจากโมเดลในไทยที่จะเน้นการพัฒนาศักยภาพให้สามารถเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้นน้ำ เพาะเชื้อสำหรับการทำวัคซีนเอง
"ขณะนี้มีอยู่ 2 ประเทศที่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ซึ่งสนใจในโมเดลจอยต์ เวนเจอร์รูปแบบในประเทศไทยเหมือนกัน แต่อยู่ระหว่างการเจรจา"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 - 6 พ.ย. 2556
- 27 views