ข่าวสด - ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย จัดเสวนาพิเศษ หัวข้อ "วิกฤตหรือโอกาส การศึกษาไทยกับการเกษียณอายุครู?" พร้อมเปิดผลวิจัย "การศึกษาการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน ระหว่างประเทศสิงคโปร์กับประเทศไทย และการปรับตัวของครูที่อยู่ในวัยก่อนเกษียณอายุ" โดยมี นายสุรพล รัตนไชย ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์ประวิทย์ บึงไสย เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และ อาจารย์นิธิภัทร กมลสุข ผู้วิจัยปัญญาสมาพันธ์ฯ ร่วมเสวนาเพื่อเตรียมพร้อมรองรับ ครู อาจารย์ ผู้บริหารในโรงเรียนที่จะเกษียณอายุ
อาจารย์นิธิภัทร ผู้วิจัยเรื่อง "การศึกษาการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน ระหว่างประเทศสิงคโปร์กับประเทศไทย และการปรับตัวของครูที่อยู่ในวัยก่อนเกษียณอายุ" เผยว่า ทั้งสองประเทศที่ได้ทำวิจัยอยู่ในกลุ่มอาเซียน และมีอัตรากลุ่มผู้สูงอายุอยู่ในเปอร์เซ็นต์สูงที่ใกล้เคียงกัน โดยสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 14 ไทยอยู่ที่ร้อยละ 12.9 ส่วนอีก 8 ประเทศอยู่ในค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-8 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น
โดยสถิติคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า กลุ่มผู้สูงอายุของทั้งสองประเทศจะเติบโตอีกเท่าตัว และสาเหตุที่เลือกกรณีศึกษา กลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นบุคลากรทางการศึกษา เพราะอาชีพดังกล่าวมีสัดส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ คิดเป็นกว่าร้อยละ 38 ของสายอาชีพทั้งหมดในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน และการปรับตัวของครูที่อยู่ในวัยก่อนเกษียณอายุ
ครูสูงอายุ
ผลการวิจัยปัญญาสมาพันธ์ฯ พบปัจจัยด้านต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้ 1.ด้านการเงิน การออม พบว่า ไทยและสิงคโปร์มีการสนับสนุนให้สะสมเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้ในยามสูงอายุ แต่ลักษณะการสะสมต่างกัน สิงคโปร์ส่งเสริมการออมผ่านกองทุน CPF (Central Provident Fund) ซึ่งสามารถนำเงินมาใช้ลงทุนก่อนได้
ส่วนประเทศไทย โดยใช้นโยบายภาครัฐหรือสถาบันสนับสนุน (Institutional-based) ร่วมกับการลดการพึ่งพาภาครัฐหรือสถาบัน (De-institutional-based) ผ่านระบบบำเหน็จ/บำนาญ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเบี้ยยังชีพ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ด้วยการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเรียนรู้ และมีมหาวิทยาลัยของช่วงอายุที่สาม (Third-age University) เพื่อให้ผู้ที่กำลังเกษียณอายุ ได้เรียนรู้และเตรียมพร้อมการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและโครงสร้างความสัมพันธ์อื่นๆ
ครูในสิงคโปร์
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ตามกฎหมายจนถึงอายุ 65 ปี โดยมีคณะกรรมการจากตัวแทน 3 องค์กร คือ กระทรวงแรงงาน สภาหอการค้าแห่งชาติ (The National Trades Union Congress: NTUC) และสมาพันธ์นายจ้างแห่งประเทศสิงคโปร์ (The Singapore National Employers Federation: SNEF) ที่ทำหน้าที่หลัก 3 ประการคือ 1. การช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการจ้างงานต่อไป 2. ผลักดันให้เกิดกฎหมายจ้างงานใหม่สำหรับผู้สูงอายุ และ 3.พัฒนาทัศนคติในแง่บวกของสถานประกอบการในการจ้างงานผู้สูงอายุ
ทั้งนี้หากผู้สูงอายุต้องการหางานใหม่ รัฐบาลจะได้มอบหมายให้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวแห่งประเทศสิงคโปร์เพื่อผู้สูงอายุ (Singapore Action Group of Elder : SAGE) ทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
สำหรับการเตรียมตัวทางด้านจิตใจและความพร้อมของครูที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุของประเทศไทย อาจารย์นิธิภัทรให้ความเห็นว่า ครูผู้สูงอายุส่วนใหญ่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกายและจิตใจที่จะเกิดขึ้นได้ โดยพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น แต่ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วถึงมากขึ้น
สอดคล้องกับผลสำรวจพบว่ามีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ที่ทราบนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการจัดกิจกรรมนันทนาการ การจัดกองทุนสวัสดิการด้านสุขภาพ เพิ่มเงินบำเหน็จบำนาญ และให้เกษียณอายุด้วยความสมัครใจ
"หากประเทศไทยมุ่งหวังจะพัฒนานโยบายและแนวทางการปรับตัวของ ผู้สูงอายุ ต้องเริ่มจากดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างการรองรับผู้กำลังเกษียณอายุใน 4 ปีข้างหน้า ให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งต้องอาศัยภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน" ผู้วิจัยแนะนำทิ้งท้าย
- 22 views