พลันที่ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ บอร์ด สปสช.ด้านการเงินการคลังประกาศว่า มีแนวคิดที่จะให้สิทธิการรักษาผู้ประกันตนมาอยู่ในการดูแลของ สปสช.ก็เรียกเสียงชื่นชมยินดีได้อย่างล้นหลามกับเอ็นจีโอสายที่ต้องการเห็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว
เพราะนี่เป็นข้อเสนอที่พวกเขาเรียกร้องมานานมากแล้ว แต่ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากการเมืองในระดับนิ่ง
อย่างไรก็ตาม คนที่ติดตามใกล้ชิดจะรับรู้ได้ว่า รัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งเป็นมือวางอันดับสามต่อจากไทยรักไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้พี่ที่กล้าทำคลอด 30 บาทรักษาทุกโรค จากนโยบายที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นำไปเสนอให้ มีแนวคิดที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่แล้ว
และต่างตระหนักกันดีว่า เมื่อครั้งที่มีการปฏิรูปด้วย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น พวกเขาได้ชูธงความเท่าเทียมให้คนไทยที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพมาแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นแรก ยังต้องมีจังหวะก้าวต่อมาอีกมากที่ต้องทำ ด้วยเหตุนี้เมื่อผู้น้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เลือกเพื่อนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ของตนมาเป็นรมว.สธ.การมี นพ.นำหน้าและดีกรีจากฮาร์วาร์ด อาจเป็นเหตุผลหลัก ณ เวลานั้น ที่ยิ่งลักษณ์เชื่อว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ผู้นี้จะสานต่อการปฏิรูปได้
เป็นที่รู้กันดีว่า ประดิษฐ นั้น มีพิมพ์เขียวที่ต้องการสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวอยู่แล้ว ถึงขั้นร่างโรดแมปว่าจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร ดังนั้น ข้อเสนอของคณิศ จึงไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ แต่ผ่านความเห็นชอบของคนในมาแล้ว ยิ่งสอดรับกับจังหวะก้าวที่สำคัญของยิ่งลักษณ์ เมื่อต้นปี 2555 ที่ประกาศจะลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ อันนำมาสู่การเกิดนโยบายใหม่ๆ ตั้งแต่ฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ไล่มาเอดส์ ไต และกำลังจะทำเรื่องมะเร็งมาตรฐานเดียว ก็เป็นจังหวะก้าวที่เอ็นจีโอและสายภาคประชาชนชื่นชมยินดี
แต่เวลาผ่านล่วงมาจนจะเข้าปลายปี 2556 ทั้งหมดเรากลับพบว่า สิ่งที่ประดิษฐทำ ล้มเหลว และเขาเป็นรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานจับต้องได้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเมื่อเข้าพวกกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.
สำหรับปลัดณรงค์ ซึ่งเพิ่งผ่านวาระครบรอบหนึ่งปีของการขึ้นมาเป็นปลัด สธ.ที่สะบักสะบอมอย่างแรงกับการเปิดศึกในเรื่องที่ไม่น่าเปิด จึงทำให้หนึ่งปีที่ผ่านไป เป็นปีแรกของการเป็นปลัด สธ.และ รมว.สธ.ที่ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้ เรียกได้ว่า ให้นึกระหว่างผลงาน กลับเรื่องยุ่งๆ ใน สธ. คนจะนึกเรื่องยุ่งๆ ใน สธ.ที่ล้วนมาจากสิ่งที่สองท่านก่อให้เกิดได้ง่ายกว่ากันมากนัก
ซึ่งนี้เป็นเรื่องที่ผิดคาดและน่าผิดหวังเป็นอย่างนิ่ง เมื่อย้อนกลับไปในวันที่ณรงค์ได้รับคัดเลือกให้มาดำรงตำแหน่งปลัด สธ.แทนตัวเต็งอย่าง นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ณ เวลานั้น วันนั้นเสียงยินดีแซ่ซ้องดังขึ้นใน สธ.ล้วนต้อนรับท่าน ตั้งความหวังว่า ณรงค์คนดีคนตรงผู้นี้แหละที่จะมาปฏิรูป สธ.ให้ดีขึ้น แม้กระทั่งแพทย์ชนบทยังออกมาขานรับ
แต่หนึ่งปีที่ผ่านไปพิสูจน์ได้ว่า ความดีไม่พอกับการที่จะเป็นนักบริหาร ผู้ที่นอกจากต้องมีภาวะความเป็นผู้นำแล้ว สิ่งสำคัญของผู้นำคือท่านต้องมีบารมี ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีในตัวณรงค์ มีแต่เพียงบุคลิกแข็งกร้าว วิ่งเข้าชน จน สธ.แตกเป็นเสี่ยงอย่างทุกวันนี้
เขตสุขภาพที่หมายมั่นปั้นมือ ก็สะท้อนแนวคิดที่มุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ มากกว่าการสร้างความเท่าเทียม ที่สำคัญกว่านั้น วิธีการปฏิบัติก็ล้มเหลว ไม่สามารถมุ่งไปสู่ประสิทธิภาพที่ตั้งหวังได้ ตัวเลขที่ปั่นๆกันมาในแต่ละเขตนั่นคือ ละครที่คนในพื้นที่ส่งให้ท่านดู เรียกได้ว่า ปลัดอยากได้อะไร เขตปั่นตัวเลขให้ได้ (ฮา)
เขตสุขภาพจะกระจายอำนาจได้อย่างไร เมื่อท่านส่งผู้ตรวจราชการซึ่งเป็นคนจากส่วนกลางเข้ามาดูแล นี่มันย้อนยุคถึงขั้นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เจ้าผู้ครองอาณาจักรต้องส่งคนของตนมาเป็นเจ้าเมืองปกครองคนในเขตภูมิภาค และหนักกว่าด้วยซ้ำเพราะเจ้าเมืองยังมีบ้านอยู่ที่ภูมิภาค แต่ผู้ตรวจยุคนี้ แม้ได้ชื่อว่าเป็น CEO เขต แต่บ้านท่านอยู่ส่วนกลาง แถวๆ กทม. นนทบุรี ใกล้กระทรวงสาธารณสุขแหล่งอำนาจนี่แหละ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนถึงวิธีคิดที่ยังไม่หลุดจากกรอบของ ประดิษฐ และ ณรงค์ ที่แนวคิดหลายอย่างไม่รู้ว่า รมว.Lead ปลัด หรือ ปลัด lead รมว.กันแน่ ถึงได้ทำให้การปฏิรูป สธ.ถอยหลังเข้าคลองไปได้ถึงเพียงนี้
ยังไม่นับศึก P4P ที่สร้างรอยร้าวไปทั่วกระทรวง และสร้างความเป็นพวกใครพวกมันให้ถ่างกว้างออกไปอีก ระหว่างกลุ่ม รพศ. รพท.และกลุ่ม รพช.
ก็ยังมีการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็น พกส.ที่เจตนาดี แต่เช่นเดิม คือการปฏิบัติล้มเหลว และ ณ เวลานี้ยังคาราคาซังมองไม่เห็นทางออก และได้สร้างความเหลื่อมล้ำในสายงานสาธารณสุขให้ถ่างกว้างออกไปอีก
รวมถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการบรรจุนักเรียนทุน ที่เรียกได้ว่า ด้วยเรื่องแค่นี้ ก็ยังไม่มีปัญญาทำให้เรียบร้อย
และเรื่องที่ง่ายกว่านั้น คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับให้แต่ละรพ.ใช้เพื่อรองรับสิทธิการรักษาของกองทุนรักษาข้าราชการท้องถิ่น อปท.ก็ยังไม่เรียบร้อย
นับประสาอะไรกับเรื่องสุดหิน อย่างการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ณรงค์ถึงกับประกาศเสียงดังฟังชัดในการประชุมวิชาการ สธ.ที่ขอนแก่นเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาว่า จริงๆ ต้องให้ สธ.ดูแล ไม่ใช่ให้ใครอื่นดูแล ก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่เรียกได้ว่า นี่เป็นช่วงเวลาฟ้าเปิด เพราะนโยบายรัฐบาลประกาศชัดว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้แน่นอน ขอเพียงแค่ข้าราชการประจำชงเรื่องดีๆ มานำเสนอก็เดินหน้าต่อได้ แต่ท้ายที่สุดข้าราชการประจำกลุ่มนี้กำลังพายิ่งลักษณ์และแผนลดความเหลื่อมล้ำสุขภาพออกทะเล และทุกวันนี้ยังกู่ไม่กลับ
แต่แม้ว่าข้าราชการประจำจะชงเรื่องห่วยๆ ขึ้นมา การเมืองแถวสามยุคนี้ก็ยังรับ จึงทำให้เราได้เห็นฉุกเฉินมาตรฐานเดียวที่สุดท้ายเอวัง ข้อมูลบ่งบอกชัดเจนว่า ข้าราชการใช้สิทธิ์มากกว่าชาวบ้านธรรมดา เห็นการตั้งกองทุนรักษาข้าราชการท้องถิ่น อปท.ที่สิทธิเหมือนข้าราชการเป๊ะ โดยให้ สปสช.บริหาร ที่ในระยะยาวจะสร้างความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจให้กับพลเมือง 30 บาท ว่ากลายเป็นพลเมืองชั้นสามไปอีกแล้ว ที่สำคัญกำลังซ้ำเติมเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนหนักขึ้นไปอีก เพราะลำพังสวัสดิการข้าราชการทุกวันนี้ก็เกิดเป็นงบบานปลายจนสุดที่จะควบคุมได้แล้ว
รวมถึงล่าสุดที่เพิ่งมาใหม่แบบสดๆ ร้อนๆ กับการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลใน พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถจาก 15,000 บาท เป็น 30,000 บาท ที่เล่นเอาเอ็นจีโอที่ลุ้นตัวโก่ง เมื่อครั้งที่คณิศเจ้าเดิม ซึ่งภาพลักษณ์ดีเยี่ยม ออกมาบอกว่า รัฐบาลกำลังจะแก้ปัญหานี้ เนื่องจากการเบิกที่ยุ่งยาก จึงทำให้คนมาเบิกกับกองทุนบัตรทอง จนเข้าเนื้อบัตรทองต้องแบกรับ ในขณะที่บริษัทประกันภัยรับกำไรเอาไปกินสบายๆ ปีละหลายพันล้าน
ครั้งนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือว่า จะทำสำเร็จ แต่พลันที่มติ ครม.22 ต.ค.ออกมา เหล่ากองเชียร์ต่างร้องอุทานว่า what the f-ck ! เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องที่บอกว่าเงินน้อยไม่พอค่ารักษา แต่ปัญหาคือการเบิกที่ยุ่งยากทำให้คนไม่อยากเบิกต่างหาก เห็นปัญหาแต่เกาไม่ถูกที่คันจะมีประโยชน์อันใด
ทั้งหมดนี้ผู้สันทัดกรณีฟันธงว่า มาจากวิธีคิดการปฏิรูปที่เน้นประสิทธิภาพ และละเลยเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งแน่นอน หากเน้นประสิทธิภาพ คนที่มีโอกาสก็ย่อมเข้าถึงประสิทธิภาพนั้นได้มากกว่าคนที่ไม่มีโอกาส และย่อมถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างออกไปอีก
และนี่จะกลายเป็นจุดแตกหักที่ทำให้การปฏิรูประบบสาธารณสุขที่มุ่งในทิศทางมาตรฐานเดียวยากที่จะเกิดขึ้นได้
12 ปี ของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณ เวลานี้ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ประหลาด เมื่อพรรคที่สร้างผลงานนี้ มาทำลายฐานรากที่ตัวเองสร้างย่อยยับไปกับมือ เพราะความไร้เดียงสาทางการเมือง ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ บ้าอำนาจไม่รับฟังความเห็นต่าง ใช้แต่คนที่ “ดีครับนาย ใช่ครับผม เหมาะสมครับท่าน” ที่แวดล้อมอยู่ในเวลานี้
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มก้อนที่แวดล้อมใกล้ชิด ประดิษฐ และ ณรงค์ ณ เวลานี้ ไล่มาตั้งแต่
นพ.บัญชา ค้าของ อดีต ผอ.กลุ่มประกันสุขภาพ ปัจจุบัน ผอ.สำนักบริหารกลาง สป.สธ.ตามโครงสร้างใหม่ ที่เป็นผู้คิดค้นผลงานโดดเด่นชิ้นโบว์ดำ เรื่องแก้ประกาศจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ชงเรื่องให้ปลัดเดินหน้าชนจะเข้าบอร์ด สปสช.เพื่อปรับแก้ ก่อนจะหน้าแตกกลับมา เพราะคณิศ คนใกล้ชิด ที่ยังคงมีจิตวิญญาณนักวิชาการเตือนประดิษฐ ว่าให้ถอนวาระนี้ออก ก่อนจะทำให้เสียหายไปทั้งกระบวน
หรือ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ.ที่ข้ามหัวใครอีกหลายคน ก็เป็นมือไม้ทำงานที่เริ่มขยับรับใช้ ด้วยการออกมาตรการที่เกื้อหนุนโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งต้องจับตาดูในเร็วๆ นี้ ที่รับรองว่าต้องฮือฮา (แต่ถ้าใครอยากรู้คงต้องกระซิบถาม สปสช.)
หรือการมอบหมายให้ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.เดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องเขตสุขภาพ ก็สะท้อนการไม่ใช้ปัญญาในการบริหารคน เพราะวชิระไม่ใช่คนที่เติบโตมาในสายงานสำนักงานปลัด ไม่รู้จักวัฒนธรรม แล้วจะบริหารเขตสุขภาพได้อย่างไร
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการการขับเคลื่อนนโยบายที่ทำให้ สธ.แตกเป็นเสี่ยงๆ นี้ ข้อดีอย่างเดียวของสองคู่หูดูโอนี้คือ ความตั้งใจดีที่จะทำงาน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสธ.ในทางที่ดีขึ้น เราเห็นการเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการวันเสาร์อาทิตย์กันอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน และไม่เหน็ดเหนื่อย แต่ภาวะการณ์ที่กำลังเป็นไปนี้ ขออย่าให้เข้าตำรา ขยันแต่โง่ ก็พอแล้ว
แน่นอนว่า ใครๆ ก็ล้วนอยากสร้างประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับประดิษฐและณรงค์ ที่พกความตั้งใจดีมาเปี่ยมล้น และต้องการสร้างประวัติศาสตร์ให้เป็นที่จารึก แต่จังหวะก้าวในขวบปีที่ผ่านมา บ่งบอกได้ว่า เป็นคนที่ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ที่ไร้เดียงสาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ แถมขาดจินตนาการ หากสร้างไม่สำเร็จ ท่านก็ไม่เจ็บตัวใดๆ เก็บกระเป๋ากลับบ้านไปทำธุรกิจเหมือนเดิม ส่วนณรงค์ก็รอจนเกษียณอายุ เป็นข้าราชการบำนาญอีกคนนึงที่มีตำแหน่งว่า อดีตปลัด สธ.ห้อยท้าย แต่นึกผลงานสร้างชื่อไม่ออก นึกออกแต่เรื่องศึก P4P และความเจ็บแค้นกับตระกูล ส.เท่านั้น
หากสร้างไม่สำเร็จ ท่านไม่เจ็บตัว แต่การปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยที่กรุยทางเริ่มต้นมาดีสมัยไทยรักไทยยุคแรกกำลังเสียหายหนัก เพราะความไร้เดียงสาของท่าน
คำถามซ้ำๆ ของคนที่รู้เห็นกระบวนการปฏิรูปสาธารณสุขในยุคไทยรักไทย คือ ความข้องใจว่าทำไมเพื่อไทยจึงปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวที่ทำลายผลงานหากินที่สร้างชื่อเสียงของตัวเองได้ถึงเพียงนี้
หมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คนที่เคยใกล้ชิดทักษิณและถูกมอบหมายให้ทำงานใหญ่ร่วมกับหมอสงวนสมัยเริ่ม 30 บาท ถึงกับต้องออกมาท้วงติงดังๆ เพื่อให้รู้ตัว แต่จนป่านนี้ก็ไม่แน่นักว่า ประดิษฐ และณรงค์ จะรับฟังหรือไม่ แต่หากเป็นผู้นำที่ดี การรับฟังคือทักษะสำคัญ แต่ที่ผ่านมาเราเห็นทักษะด้านนี้จาก 2 ท่านผู้นำนี้น้อยมาก ที่เห็นคือ ความบ้าอำนาจ และการสร้างศัตรู
ผู้รู้บอกว่า การจะสร้างประวัติศาสตร์ให้สำเร็จ ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 3 ส่วน หนึ่งคือ ฝ่ายนโยบาย/การเมืองรับต้องการผลงาน สองคือภาวะผู้นำที่ไม่ใช่แค่ใช้อำนาจ แต่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า charming และสามคือ กลไกวิชาการ งานวิจัยที่รองรับ
ทั้ง 3 ส่วนนี้ มีหรือไม่กับผู้นำ สธ.ในยุคปัจจุบัน สังคมได้เป็นผู้ตัดสินไปแล้ว อยู่ที่ว่าการเมืองจะมองเห็นหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะกี่ผลงานโบดำที่ออกมา จะกี่ความแตกแยกและรอยร้าวใน สธ.คนยังยอมรับว่ามีความตั้งใจดี แต่มองเป้าหมายไม่ขาด ซ้ำยังมีวิธีการบริหารที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ทำอยู่ทั้งหมดจึงกำลังพากันลงเหว และดับฝันแผนลดความเหลื่อมล้ำของเพื่อไทยที่หวังจะสร้างชื่อเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุขอีกครั้งในยุคผู้น้องอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นาทีนี้จึงต้องจับตาดูว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและคุกรุ่นในสธ. ณ เวลานี้ เพื่อไทยจะมีทางออกอย่างไร ยังเชื่อมือประดิษฐ และณรงค์ หรือ เปลี่ยนตัว เพื่อกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา
ที่มา : www.manager.co.th
- 4 views