กรุงเทพธุรกิจ - แม้สภาคองเกรสของสหรัฐจะยังไม่ผ่านงบโอบามาแคร์ ที่ใช้ดูแลสุขภาพของคนอเมริกัน แต่ก็ทำให้ประเทศทั่วโลกเริ่มหันมามองเห็นความจำเป็นของการหาหลักประกันสุขภาพของประชากรในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเกิดเจ็บป่วย และทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก หลายประเทศจึงหันมาสนใจกับการรณรงค์และป้องกันไม่ให้สุขภาพอ่อนแอและเจ็บป่วย โดยเชื่อว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลงได้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ กล่าวในรายการ Business Talk หัวข้อ "โอบามาแคร์เหมือนหรือต่างหลักประกันสุขภาพไทย" โดยชี้ว่า ค่าใช้จ่าย ด้านสาธารณสุขของไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะสังคมมีความเจริญ ประชากรมีการศึกษา และเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ทำให้ประชากรในสังคมชนบทเรียกร้องบริการรักษาพยาบาลจากภาครัฐเต็มที่ ดังนั้นค่าใช้จ่ายสาธารณสุขจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เทียบกับนโยบายโอบามาแคร์ ที่เน้นการจัดการดูแลผู้สูงอายุ และหันมาใช้ระบบเหมาจ่ายคล้ายระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านนี้ไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป
ทั้งนี้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยมีจุดคล้ายกับนโยบายโอบามาแคร์ นั่น คือ เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการรักษามาเน้นป้องกันโรคมากขึ้น โดยจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มาเป็นองค์กรณรงค์ป้องกัน ต่างจากโอบามาแคร์ ที่สภาคณะกรรมการรณรงค์ป้องกันหรือเรียกว่า "ระบบ Health In All Policy" หรือสภาป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ โดยมีตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมกับโครงการของทุกกระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข " หมายความว่าทุกนโยบายต้องมีผู้แทนสาธารณสุขร่วมดูว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ รวมทั้งมีการป้องกันอย่างไร ตลอดจนต้องกำหนดนโยบายด้านสุขภาพให้รัฐบาลนำไป
ปฏิบัติเป็นรูปธรรม ซึ่งต่างจากสสส. ที่ได้รับงบประมาณมารณรงค์และป้องกันเท่านั้น
นพ.ประกิต อธิบายว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพของสหรัฐ มีจุดอ่อน 4 ด้านได้แก่ 1ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขสูงถึง 17.9% ของจีดีพี ( 17 ล้านล้านดอลลาร์) ถือว่าสูงสุดในโลก 2 แม้จะใช้ เสียเงินจำนวนมหาศาล แต่สุขภาพของคนอเมริกันกลับไม่ดีขึ้น และ โดยเสียชีวิตจากโรคภัยต่างๆปีละ 1.1 แสนคน ซึ่งเหตุผลสำคัญมาจากไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ 3. ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐสามารถเลือกใช้บริการตามสถานะทางการเงิน แต่มีเพดานวงเงินประกัน ทำให้มีคนไม่สามารถใช้สิทธิรับการรักษาได้ และ 4. ระบบหลักประกันสุขภาพสหรัฐจ่ายตามรายการรักษา ทำให้คนอเมริกันจำนวน 44 ล้านคน ไม่สามารถเข้าระบบประกันสุขภาพได้ อาทิเช่น คนว่างงาน หรือ คนจน
"นโยบายโอบามาแคร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านสาธารณสุขของสหรัฐ จากการรักษาเมื่อเกิดโรค มาเป็นการป้องกัน โดยตั้งสภาสาธารณะ หรือ Public Council เป็นองค์กรคล้าย สสส. แตกต่างคือ จะมีผู้แทนจากทุกหน่วยงาน 25 คนหาแนวทางทำให้สุขภาพคนอเมริกันดีขึ้น" นพ.ประกิตระบุ นอกจากนั้นการประชุมองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งโครงสร้างพื้นฐานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ หลายประเทศเริ่มคำนึงการรณรงค์และป้องกันไม่ให้คนป่วย เพราะเห็นว่าโรคเรื้อรัง 4 กลุ่มได้แก่ มะเร็ง ปอด เบาหวาน หลอดเลือด เป็นสาเหตุให้คนเสียชีวิตรวมถึงไทย .ซึ่งมาจาก 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคคือ การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่เหมาะสม และดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงต้องมีวิธีคุมปัจจัยเสี่ยง เพราะเป็นต้นเหตุให้ค่าใช้จ่ายรักษาสูงมาก ขณะที่ยุโรปเองก็มีค่าใช้จ่ายด้านนี้มากถึง 6 พันล้านยูโร "มีหลายประเทศสนใจแนวทางตั้งองค์กรเหมือน สสส.ของไทย ซึ่งหลายประเทศก็ตั้งองค์กรนี้ขึ้นแล้ว อาทิ สหรัฐ อังกฤษ และนิวซีแลนด์ เพราะเห็นปัญหาค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวทางรณรงค์และป้องกันโรค รวมทั้งทำให้สุขภาพแข็งแรงน่าจะเป็นวิธีที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวลงได้บ้าง ขณะที่เมืองไทย แม้จะมีองค์กรอย่างสสส. แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนไทยเกิดโรค ก็มีมาก ทำให้น่าเป็นห่วงว่าค่าใช้จ่าย" นพ.ประกิตให้ความเห็น
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้ว่า ไทยถือเป็นประเทศแนวหน้าในการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ และกระบวนการจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชนโดยตรง มาเป็นการใช้กลไกสร้างอำนาจต่อรองในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ่านกลไกภาครัฐที่จะเข้ามาบริหารจัดการในระบบสาธารณสุข เพราะการปล่อยไปอย่างเสรีอาจไม่ใช่กลไกที่ดีนัก โดยค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดอยู่ที่ปีละ 5 แสนล้านบาท
นโยบายโอบามาแคร์มีจุดเหมือนระบบหลักประกันสุขภาพของไทยคือ ความตั้งใจจะทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ แต่วิธีการอาจไม่เหมือนกับไทย สิ่งที่แตกต่างคือ รัฐธรรมนูญของไทยเขียนไว้ว่า สิทธิในการดูแลสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและรัฐบาลมีหน้าที่จัดบริการให้ประชาชน แต่สหรัฐกำหนดพื้นฐานการดูแลเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และในอดีตสหรัฐก็เคยดูแลบุคคลที่อยู่ต่ำกว่าเส้น "Property Line " หรือเส้นความยากจน โดยให้บริการสงเคราะห์ เรียกว่า "เมดิเคท "และหากเป็นผู้สูงอายุเรียกว่า เมดิแคร์ ที่เหลือเป็นบุคคลที่ซื้อประกันเองหรือบริษัทเอกชนซื้อให้ ส่วนนโยบายโอบามาแคร์ เป็นการขยายบุคคลที่ยังไม่มีหลักประกัน และมีรายได้เกินเส้นความยากจน แต่ไม่มีศักยภาพซื้อประกัน รัฐบาลจึงต้องเข้าไปอุดหนุนค่าประกันบางส่วน โดยบังคับให้ทุกคนซื้อประกันและบังคับบริษัทประกันต้องขายประกันให้ระบบด้วย
ส่วนประเทศไทยนั้น รัฐบาลจะจัดการระบบ ตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพดูแลและซื้อบริการ ขณะที่สหรัฐยังใช้บริษัทเอกชนจัดการค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาล โดยกลไกระหว่างโรงพยาบาลกับบริษัทประกัน รัฐบาลสหรัฐจะไม่เข้าไปยุ่ง แต่ประเทศไทยหน่วยงานรัฐ ที่จะจัดการกำกับเรื่องจ่ายค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่ในระบบ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องกำกับค่าใช้จ่าย กลไกในการจ่ายค่าบริการ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และมีอำนาจต่อรอง ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพของคนไทยมีถึง 5แสนล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นระบบเหมาจ่าย 3พันบาทต่อคนต่อปี และถ้ารวมเป็นระบบที่รัฐบาลจ่ายทั้งหมดประมาณ 7-8 พันล้านบาทต่อปี หรือเกือบ 5%ของจีดีพี
"เชิงการตลาดอาจมองว่าภาครัฐเข้าไปแทรกแซงการจัดการ แต่เมื่อรัฐบาลออกแบบรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของประชาชน รัฐบาลก็มีหน้าที่จัดการระบบให้มีประสิทธิภ่าพและสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนั้นได้ ซึ่งคนไทยมีค่าใช้จ่ายสุขภาพคนละ 1 หมื่นบาท/ปี แต่สหรัฐคนละ 2 แสนบาท/คนหรือห่างกัน 30 เท่าแต่ระบบของเราดีกว่า"นพ.วินัยระบุ
'หลายประเทศสนใจตั้งองค์กรเหมือนสสส.ของ'ไทย เพราะปัญหาค่าใช้จ่ายการรักษาสูงมาก การรณรงค์ป้องกันน่าจะเป็นวิธีช่วยลดค่าใช้จ่ายได้'ประกิต วาทีสาธกิจ
'ระบบหลักประกันสุขภาพของเราในเชิงการตลาด 'อาจมองว่ารัฐบาลแทรกแซง แต่รัฐบาลก็มีหน้าที่จัดการระบบให้มีประสิทธิภาพ'วินัย สวัสดิวร
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 ตุลาคม 2556
- 2 views