มะกันปิดหน่วยงานภาครัฐครั้งแรกในรอบ 18 ปี ลอยแพเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 8 แสนคน งัดข้อร่างงบประมาณไม่เลิกรา ปมกฎหมาย "โอบามาแคร์" ชี้ผลกระทบไทยระยะสั้น มีผลอัตราแลกเปลี่ยน
ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ต้องปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลกลางบางส่วน (government shutdown) เป็นครั้งแรก ในรอบเกือบ 18 ปี หลังจากสภาคองเกรส หรือรัฐสภาสหรัฐ ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องร่างงบประมาณประจำปี 2557 ทำให้ราว 10 นาทีก่อนเส้นตายเที่ยงคืนวันอาทิตย์ (1 ต.ค.) ตามเวลาสหรัฐ (11.00 น. วันจันทร์ 1 ต.ค. ตามเวลาประเทศ ไทย) สำนักงานบริหารและงบประมาณ ทำเนียบขาว ได้แจ้งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่งเริ่มเตรียมปิดทำการ อันจะส่งผลให้ลูกจ้างของรัฐที่ไม่มีหน้าที่จำเป็นราว 8 แสนคน จะต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน พร้อมกับปิดบริการแหล่งท่องเที่ยวอย่างอุทยานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ ตลอดจนอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ นอกจากนี้ โครงการสังคมที่จัดหาอาหารแก่สตรีและเด็กยากจนก็อาจได้รับผลกระทบ ทั้งอาจส่งให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายกว่าพันล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์
เช้าวันอังคาร (1 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น จึง มีแต่เฉพาะลูกจ้างภาครัฐที่จำเป็นเท่านั้นที่ยังทำงานต่อไป ส่วนหน่วยงานที่ไม่มีหน้าที่เร่งด่วน จำเป็นอย่างทำเนียบขาว จะเหลือเฉพาะเจ้าหน้าที่ เป็นแกนหลักจริงๆ แต่หากเป็นงานอย่างบริการไปรษณีย์และควบคุมการจราจรทางอากาศ จะดำเนินไปตามปกติ เช่นเดียวกับการใช้จ่ายในส่วน ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยสาธารณะ จะไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเงินเดือนทหาร
สำหรับสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอยู่ในภาวะ ชัตดาวน์เช่นนี้ สืบเนื่องจากพรรครีพับลิกันซึ่งถือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายปฏิรูปประกันสุขภาพ ที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า โอบามาแคร์ (Affordable Care Act) และได้พ่วงเงื่อนไขผ่านร่างงบประมาณโดยให้เลื่อนการใช้โอบามาแคร์ออกไปอีกหนึ่งปี หรือตัด การสนับสนุน ขณะที่วุฒิสภาซึ่งเดโมแครตถือเสียงข้างมาก ปฏิเสธทำตามข้อเรียกร้อง โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่า กำลังยืนหยัดในสิ่งที่ประชาชนต้องการ และหลังจากถกเถียงและลงมติยังตกลงกันไม่ได้ ที่สุดจึงมาถึงเส้นตายสิ้นสุดงบประมาณประจำปี 2556 เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายน
นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการบางส่วนในรอบเกือบ 18 ปี ครั้งหลังสุดยืดเยื้อนาน 21 วันในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภายังไม่ได้ยุติความพยายามประนีประนอมร่างงบประมาณสองร่างได้หรือไม่หลังพ้นเส้นตาย แต่ถึงปัจจุบันสองฝ่ายยังคงท่าทีเดิม
การปิดหน่วยงานภาครัฐ ถูกมองว่าเป็นวิกฤติร้ายแรงที่สุดในการปะทะทางอุดมการณ์ว่าด้วยขนาดของรัฐบาล และบทบาทของรัฐบาลในชีวิตของประชาชน "โอบามาแคร์" ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงและเป็นจุดขายนโยบายในประเทศของนายโอมาบา ที่มีสาระสำคัญคือบังคับชาวอเมริกันทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือชาวอเมริกันราว 30 ล้านคนที่ไม่มีกำลังซื้อประกัน ซึ่งนโยบายนี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงบประมาณที่จัดสรรแก่รัฐบาลกลาง แต่ถูกนำมาเป็นเกมต่อรอง โดยมีกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้ว "ที ปาร์ตี้" ในพรรครีพับลิกัน เป็นหัวขบวนต่อต้านนายโอบามาอย่างหัวชนฝา พวกเขารังเกียจกฎหมายปฏิรูปประกันสุขภาพเพราะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการใช้จ่ายของรัฐบาล จึงมุ่งมั่นขัดขวางอย่างถึงที่สุด
ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวหาพรรครีพับลิกันว่า จับประเทศชาติเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่เป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองแบบสุดโต่ง ขณะที่ฝ่ายค้านโต้กลับว่าประธานาธิบดีหยิ่งยะโส และไม่ยอมเจรจา
หลังเที่ยงคืนไม่นานตามเวลาท้องถิ่น ได้ส่ง ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า โอบามาแคร์จะเดินหน้าต่อไป และมีผลบังคับใช้บางส่วนแล้วในวันอังคาร
ทั้งนี้ หลังผ่านพ้นเส้นตายเที่ยงคืน สมาชิกทั้งสองพรรคในสภายังคงโทษกันไปมา และโยนความรับผิดชอบให้อีกฝ่าย เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากในปีหน้า จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสกลางสมัย แต่พรรครีพับลิกันที่หวังกลับมาครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาอีกครั้ง มีความเสี่ยงมากกว่า จากผลหยั่งเสียงของมหาวิทยาลัยควินนิแพค เมื่อเช้าตรู่วันอังคารตามเวลาท้องถิ่น พบว่าชาวอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการใช้การปิดหน่วยงานรัฐบาล เป็นหนทางคว่ำโอบามาแคร์ ในสัดส่วน 72% ต่อ 22%
ขณะที่ผลสำรวจโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ร่วมกับสำนักวิจัยโออาร์ซี ในวันก่อนหน้า พบ 46% มองว่า เป็นความผิดของพรรครีพับลิกัน ขณะที่ 36% คิดว่าโอบามาต้องรับผิดชอบ และ 13% มองว่าทั้งโอบามาและสภาคองเกรสต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ขณะนี้ยังบอกได้ยากว่าการปิดหน่วยงานรัฐบาลกลางจะยืดเยื้อกี่วัน ขึ้นอยู่กับสองสภาจะหาทางรอมชอมกัน ซึ่งอาจจะกินเวลาหลายวันหรือเป็นเดือน แต่ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงมากกว่าคือ การแบ่งขั้วและไม่ลงรอยทางการเมือง กำลังจุดกระแสวิตกว่าสภาคองเกรสจะสามารถทำความตกลงเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกลางเดือนตุลาคมนี้ได้หรือไม่
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์เนชั่นแชนแนล ว่า การอภิปรายเรื่องเพดานหนี้ที่จะมีขึ้นใน 17-21 ตุลาคมนี้ หากตกลงกันไม่ได้ ผลกระทบจะแตกต่าง กันมาก หากไม่ขึ้นเพดานหนี้ จะหมายถึงกู้ยืมไม่ได้และสหรัฐไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ การผิดนัดชำระ หนี้ของสหรัฐจะมีผลสะเทือนมากกว่า คาดว่ารีพับลิกันอาจจะยอมอ่อนข้อในครั้งนี้โดยเปิดทำการหน่วยงานรัฐอีกครั้ง แล้วไปต่อสู้กันในเรื่องเพดานหนี้รอบใหม่
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า งบประมาณสหรัฐแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาแบบปีต่อปี กับอีกส่วนที่จ่ายได้เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ประกันสุขภาพและประกันสังคมที่ยังจ่ายได้โดยปกติ การชัตดาวน์เกิดขึ้นเป็น ประจำ ตั้งแต่ปี 2522 ปิดมาแล้ว 17 ครั้ง
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือความยากลำบากของประชาชน ส่วนผลกระทบต่อจีดีพี มีการคำนวณว่าการปิดหน่วยงาน จะลดจีดีพี 0.1% ต่อสัปดาห์ เพราะภาครัฐสหรัฐไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่จากประสบการณ์ในอดีต โดยทั่วไปมักปิดประมาณ 3 วัน เร็วสุดคือครึ่งวัน มีครั้งสุดท้ายในสมัยของบิล คลินตัน นานสุด 21 วันในปี 2538 และหากปิดสามวัน จะกระทบจีดีพี 0.05% ซึ่งไม่น่ากระทบเศรษฐกิจโลก
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ภาวะการตกเหวทางการคลังของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดการเงินทั่วโลก รวมทั้งไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่กลุ่มนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติอาศัยจังหวะนี้เก็งกำไร ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน แต่ในส่วนภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่ได้รับผลกระทบ
นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน เห็นว่า หากปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขได้และกินเวลายาวนานออกไปเกิน 1 เดือนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐน่าจะรีบหาทางออก
แหล่งข่าวจาก ธปท.เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมองว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ว่าจะเป็นเช่นไรและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในรูปแบบใด ต้องดูไปอีกระยะหนึ่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 2 ตุลาคม 2556
- 1 view