คมชัดลึก - แฉภัยขนมปังอันตรายเก็บนานกว่า 60 วันไม่เสียไม่ขึ้นรา ขายเกลื่อนหน้าโรงเรียน-หมู่บ้าน เตือนเด็กอย่าซื้อกินพิษสะสมตับ-ไต ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หัวหน้าเภสัชจุฬาฯ ระบุละเมิด สิทธิเด็กขายขนมผสมยากันบูด-สี-วัตถุเจือปน
"คม ชัด ลึก" ได้รับการร้องเรียนว่า ขณะนี้ในร้านขายของชำตามหมู่บ้านและหน้าโรงเรียน มีการนำขนมไม่ได้มาตรฐานมาขายจำนวนมาก จากการลงพื้นที่สำรวจภาคอีสาน พบว่าขนมเหล่านี้ชาวบ้านเรียกว่า "ขนมหลอกเด็ก" มีหลากหลายรูปแบบทั้ง โดนัท ขนมปังทาเนย ช็อกโกแลต ผลไม้ดอง เยลลี่ ฯลฯ ส่วนใหญ่ไม่มีเลข อย.หรือไม่ได้มาตรฐานรับรองความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.)
ผู้สื่อข่าวทดลองซื้อขนมปังทาเนยจากร้านขายของชำในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจ.หนองบัวลำภู เมื่อช่วงวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกตินานเกือบ 2 เดือนยังไม่ขึ้นราหรือมีลักษณะของการเน่าเสียแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 9 ตุลาคมเริ่มมีราสีดำขึ้นที่ขอบด้านนอก โดยขนมปังชิ้นนี้ไม่มีฉลากบอกรายละเอียดส่วนผสมหรือวันหมดอายุ
นอกจากนี้ ยังมี "ขนมปังไส้สังขยาใบเตย" ซึ่งผู้สื่อข่าวทดลองสุ่มซื้อมาจากร้านขายของชำหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อ วันที่ 30 สิงหาคม 2556 ผ่านไปกว่า 50 วันแล้ว ยังไม่มีราขึ้นแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับขนมเบเกอรี่ทั่วไปนั้น หากขนมปังไม่ได้ใส่สารกันบูดจะเก็บได้นานไม่เกิน 3-5 วัน แต่ถ้าใส่สารกันบูดตามที่องค์การอาหารและยา อย. กำหนดจะอยู่ได้ไม่เกิน 10 วันเท่านั้น
เมื่อสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจากร้านขายหน้าโรงเรียนหลายแห่งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ พบว่า ขนมหลายชนิดที่วางขายมีลักษณะของขนมอันตรายบรรจุในห่อไม่ได้มาตรฐานและไม่มีวันหมดอายุหรือฉลากกำกับ ขนมกลุ่มนี้เด็กเล็กนิยมซื้อกินเพราะมีราคาไม่เกิน 3-7 บาท แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1. ขนมปัง-โดนัท-วาฟเฟิล 2.เยลลี่สีสันฉูดฉาด 3.ผลไม้ดอง มะยม กิมจ๊อ บ๊วยหวาน 4.ข้าวเกรียบกุ้ง และ 5. ช็อกโกแลตเทียม ทอฟฟี่ ลูกอม ฯลฯ ขนมหลอกเด็กทั้ง 5 กลุ่มมีกลเม็ดหลายอย่างล่อลวงให้ผู้ซื้อคิดว่าปลอดภัย เช่น 1.กลุ่มขนมที่ไม่มีข้อมูลอะไรทั้งสิ้น 2.กลุ่มขนมที่มีเพียงยี่ห้อกับหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีสถานที่ผลิตและไม่มีเลข อย.รวมถึงไม่มีฉลากบอกรายละเอียดส่วนผสม หรือ 3.กลุ่มขนมที่มีรายละเอียดผู้ผลิต แต่ช่องใส่เลข อย. แต่ไม่ปรากฏตัวเลข
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยอมรับว่า ขณะนี้มีการลักลอบผลิตและขายขนมอันตรายจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กหากกินขนมใส่สารกันบูดมากๆ จะเกิดพิษเฉียบพลันมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ้ากินต่อเนื่องจะไปสะสมในตับและกลายเป็นมะเร็งได้ ส่วนสีที่ใส่ในลูกอม เยลลี่ หรือขนมชนิดต่างๆ เพื่อให้สีสันฉูดฉาดน่ากินนั้น จะเกิดอาการพิษจากโลหะหนักที่เป็นส่วนผสมในสีอาหาร มีงานวิจัยยืนยันว่า โลหะหนักจากสีในขนมที่เข้าไปสะสมในร่างกายเด็กมีผลต่อระบบประสาทและสติปัญญา
"อย.พยายามจับกุมโรงงานกับร้านขายมาตลอด แต่เจ้าหน้าที่ส่วนกลางมีแค่ 10 กว่าคนเท่านั้น ไม่สามารถดูแลผู้บริโภคได้ทั่วถึง ส่วนในต่างจังหวัดก็มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เกินจังหวัดละ 2-3 คน พวกผู้ผลิตกระจายอยู่ทั่วไป ต้องส่งให้ตำรวจช่วยตามจับบางครั้ง การตรวจจับไม่ใช่ง่ายเพราะการผลิตขนมพวกนี้ ไม่รู้ว่าลอตไหนจะใส่สารกันบูดหรือสีมากเท่าไร พวกเขาทำตามความพอใจ ไม่มีมาตรฐานอะไร จับแล้วต้องตรวจสารเคมีที่ผสมให้แน่ชัด จึงจะเอาผิดได้ เจ้าของโรงงานขนมบางแห่ง มาขอเลขอย.ในขนมประเภทเดียว แต่เอาไปใช้ซ้ำกับขนมทุกชนิดที่ผลิต การตรวจจับต้องละเอียด ขนมมีเลขอย.ไม่ได้หมายความว่าเป็นขนมปลอดภัย ผู้ซื้อต้องสังเกตให้ดี"
ด้านนางจุรีรัตน์ ห่อเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร อย. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัตถุมีพิษในขนมเด็กว่า วัตถุเจือปนอาหารทุกชนิดมีพิษต้องควบคุมไม่ให้ใช้ปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะสารกันบูดและสีผสมอาหารหากกินเข้าไปจะสะสมในร่างกายเป็นอันตรายต่อตับและไตโดยตรง สำหรับขนมที่เด็กชอบซื้อกินนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ขออนุญาตและจัดทำฉลากรวมถึงระบุวันหมดอายุไว้ด้วย แต่ผู้ผลิตมักทำผิดกฎหมาย โดยแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ 1.ผลิตในโรงงานเล็กๆ สกปรกหรือไม่ได้มาตรฐาน 2.ไม่มีการยื่นของเลข อย. 3.เคยยื่นขอเลข อย.แล้วไม่ต่ออายุทุกๆ 3 ปี แอบใช้เลขเดิมซ้ำสีที่ผสมในขนมเด็ก เช่น ลูกอม จะ
แยกอนุญาตไว้เฉพาะและกำหนดให้ใช้ปริมาณน้อยด้วย แต่ผู้ผลิตรายเล็ก มักไม่สนใจ ไม่ขอใบอนุญาต ไม่มีฉลาก ไม่มีวันหมดอายุ ตัวอักษรไม่ชัดเจน ฯลฯ
ข้อมูลจาก อย.ระบุถึงอันตรายจากสารกันบูดว่ามีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน ภาวะเม็ดเลือดแดงไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ระบบหายใจล้มเหลว ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติได้ โดยเฉพาะในเด็กและหญิงมีครรภ์ไม่ควรซื้อกิน พิษสะสมระยะยาวทำให้เป็นมะเร็ง ส่วนบทลงโทษผู้ผลิตที่ใส่สารกันบูดเกินค่ามาตรฐานนั้น กฎหมายกำหนดให้ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
ศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หัวหน้าโครงการภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในอาหารมานานแล้ว โดยเฉพาะขนมสำหรับเด็ก ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นสิทธิเด็กที่จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ไม่มีสารพิษอันตรายเจือปน ประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพื่อสุขอนามัยที่สมบูรณ์ของเด็ก ทั้งนี้สังคมไทยมักให้ความสนใจเรื่องเด็กถูกกดขี่หรือลักพาตัวมากกว่าปัญหาเรื่องใกล้ตัวเด็ก เช่น กลุ่มที่ขายขนมอันตรายให้เด็กกิน
"ขนมพวกนี้เป็นขนมอันตรายมาก หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลก็ไม่สนใจ ไม่มีการจัดการกับโรงงานผลิตหรือร้านขาย ตามหน้าโรงเรียนหรือแม้แต่ในโรงเรียนก็มีขนมที่ไม่ได้มาตรฐานอย.วางขาย ขนมใส่สารเคมีหรือสารกันบูดอันตรายมากเกินกว่าที่กำหนด หรือใส่สีวัตถุเจือปนต่างๆ มากเท่าไร ไม่มีใครรู้ เด็กไม่รู้เรื่องก็ซื้อกินตามสบาย บางครั้งเจ้าหน้าที่อาจรู้เห็นเป็นใจ ไปรับสินบนกับโรงงานก็ได้ ใครจะไปรู้ ส่วนใหญ่โยน
เรื่องไปมาไม่มีใครออกไปตรวจจับอย่างจริงจัง ไม่เหมือนยาเสพติดจับแล้วได้รางวัลส่วนแบ่ง"
ศ.ดร.วิทยา ยอมรับว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กซึ่งกินขนมพิษอันตรายเหล่านี้ต่อเนื่องในระยะยาว โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดที่กินขนมเหล่านี้เป็นประจำจนกลายเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่ไม่มีความรู้ว่าขนมเหล่านี้น่ากลัวอย่างไร และไม่รู้ว่าต้องดูฉลากระบุสารกันบูดวัตถุพิษเจือปน หรือหมายเลข อย.ทุกครั้งก่อนซื้อขนมให้ลูกหลานกิน
ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า นอกจากขนมพิษที่ผลิตในประเทศแล้วยังต้องเฝ้าระวังขนมจากจีนหรือประเทศเพื่อนบ้านที่วางขายตามชายแดนไทยด้วย เพราะมีปัญหาคล้ายคลึงกัน อยากให้สถานศึกษาเข้าไปทำวิจัยสำรวจทุกทุกพื้นที่ว่าขนมเหล่านี้มีปริมาณมากน้อยแค่ไหน และควรให้ความรู้กับชุมชนและเด็กๆ ถึงพิษของขนมเหล่านี้ และสังคมไทยร่วมตัวกันสร้าง "เครือข่ายป้องกันขนมพิษ" อย่างจริงจัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 28 ตุลาคม 2556
- 144 views