มติชน - คสรท.ค้านรวมกองทุน สปส.-สปสช. ชี้คน สปสช.ไม่เห็นต้องจ่ายสมทบ ทำไมคน สปส.ต้องจ่าย ด้านพนักงานมหาวิทยาลัยหนุน แต่ขึ้นกับผู้ประกันตนหลัก
หลังจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เสนอให้มีการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนเดียวกัน เพื่อให้การรักษาเป็นมาตรฐานเดียว ขณะเดียวกันให้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเฉพาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเมื่อเป็นกองทุนเดียว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะเหมือนกันนั้น
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นการรวมกองทุน หรือจะอาศัยมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เนื่องจากปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยังมี อย่างการเข้าถึงบริการ การส่งต่อ ซึ่งตรงนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรพัฒนาระบบการบริการก่อนหรือไม่ ที่สำคัญผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินสมทบและการจ่ายเงินก็หวังจะได้มาตรฐานการรักษาที่ดี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการรักษาพยาบาลของ สปส.ยังสามารถเลือกโรงพยาบาลในเครือข่ายได้ แต่ยอมรับว่า บางอย่างสิทธิประกันสังคมอาจไม่ดีมาก แต่ก็ต้องมีการปรับปรุง ซึ่งประกันสังคมยังมีปัญหาในแง่การบริหารจัดการ กลไกการควบคุม ตรงนี้เห็นด้วยว่าต้องปรับปรุงและพัฒนาสิทธิประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ แต่จะให้ผู้ประกันตนโอนไปอยู่กับ สปสช. มองว่าไม่ใช่
"เคยจัดเวทีแรงงานและพูดประเด็นนี้มากว่า 20 เวที ผู้ประกันตนล้วนไม่เห็นด้วยเพราะ สปสช.ก็มีข้อจำกัดอยู่ ที่สำคัญมองว่า สปส.มีความยั่งยืนในตัวระบบ เนื่องจากมีการร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสามฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มี เป็นภาครัฐจ่าย ซึ่งหากในอนาคตรัฐไม่มีงบประมาณตรงนี้ และการรักษาจะทำอย่างไร เรื่องนี้ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย" น.ส.วิไลวรรณกล่าว
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากต้องไปอยู่แล้วยังต้องจ่ายเงินสมทบส่วนรักษาพยาบาลเหมือนเดิม ก็ไม่เห็นด้วย เพราะคนสิทธิหลักประกันสุขภาพฯยังไม่ต้องจ่าย ทำไมผู้ประกันตนยังต้องจ่าย
รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคม กล่าวว่า ทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม ทั้งๆ ที่ควรเป็นสิทธิข้าราชการ ซึ่งในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถใช้กองทุนประกันสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาจึงได้หารือกับ สปสช.ว่าสามารถมาช่วยบริหารกองทุนสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างหารือ ดังนั้น เมื่อมีข้อเสนอลักษณะนี้ โดยส่วนตัวก็เห็นด้วย แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกันตนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพราะในส่วนพนักงานมหาวิทยาลัย ก็มีทางเลือกในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเฉพาะขึ้น บริหารจัดการในรูปแบบเหมือนข้าราชการท้องถิ่น ที่ปัจจุบันได้โอนให้ สปสช.ดูแล
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 ตุลาคม 2556
- 3 views