เดลินิวส์ -"งบประมาณรักษาพยาบาลของประเทศ บานปลายขึ้นเรื่อย ๆ จาก 170,203 ล้านบาทในปี 2544 เป็น 403,459 ล้านบาท ในปี 2554 เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าตัว และแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ"...นี่เป็นการระบุของทางกระทรวงสาธารณสุข และเป็นประเด็นด้านสุขภาพในประเทศไทยที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขบคิด
เป็นประเด็นหนึ่งที่นำสู่ 'ปฏิรูปด้านสาธารณสุข"
ไม่ใช่แค่เรื่องงบฯ...ที่สำคัญคือ 'สุขภาพคนไทย"
ทั้งนี้ ว่ากันถึงการดำเนินการปฏิรูปด้านสาธารณสุขในประเทศ ไทย โดยที่มีเรื่องของสุขภาพประชาชนคนไทยเป็นหัวใจสำคัญนั้น กับการที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 10 จังหวัด คือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท ขับเคลื่อนโครงการ 'พัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ" นี่ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปสาธารณสุขที่น่าจับตา
การดำเนินการโครงการนี้ ก็สอดคล้องกับที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงการปฏิรูประบบสุขภาพไว้ว่า...การพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพให้มีศักยภาพมากขึ้น ให้บริการกว้างขวางและครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น เป็นสิ่งที่ ทางกระทรวงฯ มีการดำเนินการพร้อม ๆ ไปกับการเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐาน ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้
'กระทรวงฯ มีนโยบายปฏิรูปโดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพมาตรฐาน อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เป็นธรรม จากสถานบริการใกล้บ้าน หรือในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ารับการบริการในกรุงเทพฯ"...รมว.สาธารณสุข ระบุไว้
และกล่าวสำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอดังที่ว่ามาแต่ต้นนั้น จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา หลักใหญ่ใจความคือ...กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยนเรศวร, สปสช., สสส. และ 10 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการมุ่งสู่ "อำเภอสร้างเสริมสุขภาพ" เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ลดป่วยและลดโรค โดยเน้นพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS) ซึ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนระดับตำบลและหมู่บ้าน
โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ โดยนำร่องกับ 24 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2556 นี้ จนถึง 30 ก.ย. 2559 โดยจะมีการวางแผนและร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ พัฒนารูปแบบการสร้างสุขภาพที่เหมาะสมกับประชาชนและบริบทในแต่ละพื้นที่ จะมีการพัฒนาศักยภาพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนและสาธารณสุขอำเภอใน 24 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ให้มีทักษะบริหารจัดการและมีภาวะผู้นำแบบใหม่ที่สามารถสร้างทีมงาน และระดมทุนที่มีในพื้นที่ ทั้งเงิน กำลังคน และทุนทางสังคมอื่น ๆ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่ จะมีการจัดทำฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพระดับอำเภอ สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในระดับอำเภอ
ในพื้นที่เป้าหมายมีประชากรราว 6.4 ล้านคน ที่ผ่านมาพบว่า โรคของผู้ป่วยนอกที่พบบ่อย 5 อันดับคือ ระบบไหลเวียน, ทางเดินหายใจ, ระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูก, ระบบต่อมไร้ท่อและโภชนา การ ซึ่งสามารถจะป้องกันได้โดยการปรับวิถีชีวิต ควบคุมการบริโภค เพิ่มการออกกำลังกาย ซึ่งการ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ พัฒนาศักยภาพบุคลาการสาธารณสุขและจัดการความรู้ พัฒนาเครือข่าย พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพระดับอำเภอ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จะช่วยลดป่วย-ลดโรคเหล่านี้ และโรคอื่น ๆ ได้
ทั้งนี้ กับเรื่องนี้ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ก็ได้ระบุไว้ว่า...ยุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงฯ ในการลดป่วยและลดโรคของคนไทยนับตั้งแต่ปีนี้ จะเน้นพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ โดยตั้งเป้า ให้ครบ 835 อำเภอทั่วประเทศ ภายในปี 2559 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายคนไทยมีอายุยืนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 ปี มีอายุการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 72 ปี ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
'ยุทธศาสตร์ใหม่จะเน้นการระดมความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและภาคีเครือข่าย ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่ร่วมกัน โดยจะเน้นหนักที่การส่งเสริมป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัญหาของพื้นที่"...ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้ และยังเคยบอกไว้ด้วยว่า... "ภายในทศวรรษต่อไป คนไทยในทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ"
'เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย" เป็นเรื่อง 'สำคัญ" นโยบายทำให้เกิด 'ความเท่าเทียม" นี่ยิ่งสำคัญ ทุกฝ่าย รวมถึงประชาชน ต้องช่วยกันผลักดัน
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 4 views