มติชน - 'หมอประดิษฐ'ตั้งทีมสอบ รพ.เอกชน ในเครือประกันสังคม เมินทำคลอดจนเด็กตาย ชี้เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ-ไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน โทษปรับ 10,000 บาท จำคุก 2 ปี
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่ายประกันสังคมแห่งหนึ่งปฏิเสธทำคลอดให้หญิงท้องแก่ใกล้คลอด ส่งผลให้ต้องกลับไปคลอดเองที่บ้านและทารกเสียชีวิตในเวลาต่อมา ว่า เรื่องนี้นอกจากจะเกี่ยวเนื่องกับหลักมนุษยธรรมที่แพทย์ต้องรับรักษาคนไข้ทุกคนแล้ว กรณีดังกล่าวยังเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ที่ได้ประกาศ "โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกสิทธิทุกสถานพยาบาล" ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเข้าข่าย แต่โรงพยาบาลเอกชนรายนั้นไม่ยินยอมรับทำคลอด ถือว่ามีความผิดต้องโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ขณะเดียวกัน ในแง่ของจรรยาบรรณแพทย์ก็ต้องมีการพิจารณาโทษ ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทยสภาต้องพิจารณาต่อไป
"เบื้องต้นต้องมีการตรวจสอบว่า โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯหรือไม่ ซึ่งได้ส่งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นมีแนวโน้มว่า โรงพยาบาลเอกชนรายนี้มีความผิด คือ ไม่รับรักษาผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากเมื่อมีการปฏิเสธไม่รับผู้ป่วยรายนี้ ทำให้ผู้ป่วยต้องไปคลอดที่บ้าน จนส่งผลให้เด็กเสียชีวิต แต่ต้องรอผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการประมาณ 1-2 วันนี้ ส่วนประเด็นจรรยาบรรณแพทย์ ต้องรอผลการตรวจสอบในขั้นแรกก่อน" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า สำหรับประเด็นนิยามคำว่า "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" นั้น ในกรณีนี้ไม่ต้องคิดมาก หากใกล้คลอดก็ถือว่าฉุกเฉินแล้ว
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้กองประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อยู่ระหว่างตรวจสอบเรื่องนี้ว่าโรงพยาบาลมีความผิดฐานใดบ้าง ซึ่ง สปส.ต้องรอผลการตรวจสอบก่อน หากพบว่าผิดจริงก็ต้องมาพิจารณาบทลงโทษหนังสือพิมพ์มติชนรายวันตามฐานความผิดต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้อาจทำให้ผู้ประกันตนไม่เชื่อมั่นในการให้บริการของโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมหรือไม่ นพ.สุรเดชกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกกัน เพราะหากเจ็บป่วยปกติ โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมก็ไม่เคยมีปัญหา ยิ่งเป็นเรื่องทำคลอด ก็ไม่เคยได้รับการร้องเรียน ส่วนกรณีนี้แม้จะไม่อยู่ในข่ายที่ประกันสังคมต้องดูแล แต่ในเรื่องสิทธิฉุกเฉินก็ต้องมาพิจารณาว่า ผู้ที่ตรวจวินิจฉัยทำถูกหรือไม่ หรือหากมองว่ากรณีนี้ไม่ฉุกเฉิน เพราะมีเหตุผลอย่างไร ดังนั้น ขอให้รอผลการตรวจสอบก่อน
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 19 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 22 views