คมชัดลึก - "โชคร้ายไปตกอยู่ที่ลูก พ่อตีแม่ เด็กเห็นแต่ไม่กล้าทำอะไร เห็นแม่ถูกทำร้าย ถูกซ้อมทารุณ ส่วนใหญ่เห็นมานานเป็นสิบๆ ปี เด็กกลุ่มนี้โตขึ้นมามีปัญหา หลายคนเจ็บไข้ ป่วยบ่อยกว่าเด็กทั่วไป หรือปวดหัวรุนแรงหาสาเหตุไม่เจอ กว่าจะรู้ว่าเป็นอะไร ต้องให้จิตแพทย์ช่วยคุยไปเรื่อยๆ จนรู้ว่าเพราะเห็นเหตุการณ์รุนแรงในครอบครัวเกือบทุกวัน"
พญ.เบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ให้ฟังว่า จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลประมาณ 10 ปีที่แล้ว ยืนยันว่าหญิงไทยขณะตั้งครรภ์หรืออุ้มท้องนั้น เคยถูกสามีทำร้ายหรือทุบตีร้อยละ 12 และโดนทำร้ายบาดเจ็บถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลสูงถึงร้อยละ 5 ซึ่งส่งผลกระทบลูกที่อยู่ในท้องโดยตรง เพราะแม่จะมีอาการหวาดกลัวและซึมเศร้า ทารกที่คลอดออกมามีพฤติกรรมไม่เหมือนเด็กทั่วไป เพราะความเครียดจากแม่ส่งผลให้มดลูกบีบตัว ทำให้สมองของเด็กได้รับผลกระทบไปด้วย
"เด็กมาพบจิตแพทย์บางคนมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัวบ่อยๆ ผลการเรียนไม่ดี เศร้าสร้อย คนไข้แบบนี้มีทั้งเด็กและวัยรุ่น สอบถามเจาะลึกลงไปถึงรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้บางคนคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย เด็กบางคนมีอาการซึมเศร้าเห็นได้ชัดตั้งแต่คลอดออกมา เด็กบางคนอาจดื้อผิดปกติ พ่อทุบตีแม่อย่าคิดว่าลูกไม่เกี่ยว เพราะเด็กซึมซับเห็นทุกวัน เหมือนทำร้ายลูกไปด้วย วิธีแก้ปัญหาคือคนรอบข้างต้องช่วยกันปกป้องดูแลหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้ถูกทุบตี และตัวคุณแม่เองต้องกล้าเปิดเผยข้อมูลออกมา บอกให้พยาบาลหรือหมอรับฝากครรภ์รับรู้ร่วมกัน"
สำหรับวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลคือ การคิดถึงลูกในท้อง พญ.เบญจพร แนะนำว่า การเล่าเรื่องถูกทำร้ายให้เจ้าหน้าที่การแพทย์รับทราบจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะทีมงานรับฝากครรภ์มีกระบวนการดูแลผู้หญิงกลุ่มนี้แตกต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ นอกจากช่วยเหลือดูแลสุขภาพร่างกายแล้ว ยังมีการเกื้อกูลดูแลสภาวะทางจิตใจด้วย การปกปิดความจริงเรื่องถูกทำร้ายไว้คนเดียว ยิ่งทำให้เกิดอาการเครียดสะสม ความกดดันสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาใกล้คลอด สุดท้ายผลร้ายจะอยู่ที่ลูก เด็กกลุ่มนี้นอกจากพฤติกรรมซึมเศร้า ก้าวร้าว รุนแรงแล้ว ยังเลี้ยงยากกว่าเด็กทั่วไปด้วย
"อดทนมาตลอดหลายปี อยากให้ลูกมีพ่อนะ แต่ไม่รู้เลยว่ายิ่งปกป้องลูกยิ่งทำให้เขาแย่ลง พอลูกเริ่มโตเลยตัดสินใจหนีออกจากบ้านมาอยู่หอพักคนเดียว เพราะรู้ว่าไม่มีเราอยู่ด้วย เขาก็ไม่ทำร้ายใคร ลูกสนับสนุนเพราะไม่อยากเห็นแม่โดนพ่อตีอีกแล้ว สามีตามมาง้อหลายครั้ง เราไม่กลับไป ปรากฏว่าชีวิตดีขึ้นมาก เห็นลูกมีความสุขมากขึ้น ทำให้รู้เลยว่าที่ผ่านมาเราตัดสินใจผิด การอดทนให้ผัวตีเรื่อยๆ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาครอบครัวที่ถูกต้อง" "วารี" พยาบาลระดับผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยอมเปิดเผยเรื่องราวชีวิตรันทดที่เก็บเป็นความลับไว้นานเกือบ 20 ปี
"วารี" เล่าให้เพื่อนๆ ฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ถึงชีวิตครอบครัวที่ถูกทำร้าย สามีทำงานมีตำแหน่งใหญ่โตในบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เด็กพ่อแม่ตามใจทุกอย่าง พอแต่งงานก็ต้องการให้เธอตามใจเช่นกัน หากมีการขัดใจขึ้นมาจะโมโหจนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทุบตีอย่างรุนแรง ช่วงแรกไม่เป็นบ่อย พออดทนได้เพราะคิดว่าเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ แต่หลังจากมีลูกชาย พฤติกรรมสามีก้าวร้าวมากขึ้น ต้องการบังคับลูกทำตามใจตัวเองทุกอย่าง หากลูกขัดใจจะดึงเข็มขัดออกมาแล้วฟาดเฆี่ยนตีเธอทันที เพื่อข่มขู่ให้ลูกกลัว ลูกชายเมื่อเห็นแม่ถูกทำร้ายก็ไม่กล้าช่วยเพราะยังเด็ก ทำให้ยิ่งเก็บกดกลายเป็นเด็กมีปัญหา สุดท้ายตัดสินใจหนีมาอยู่หอพักเพียงลำพังทำให้ชีวิตดีขึ้นมาก
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล "ผลสำรวจเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงในชีวิตคู่" จากกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน พบว่า ร้อยละ 44 ของหญิงไทยที่มีคู่หรือเคยมีคู่ มีประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรงทางกายหรือทางเพศจากคู่ของตน เช่น ตบ ตี ผลัก เตะ ต่อย บีบคอ รัดคอ กระแทก ปาสิ่งของ ใช้อาวุธทำร้าย ฯลฯ สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นอีกปัญหาหลักของสังคม แต่ด้วยวัฒนธรรมและกฎหมาย ทำให้ผู้หญิงต้องคอยปิดบังซ่อนเร้นและอดทนรับสภาพกับภัยใกล้ตัว ไม่กล้าบอกให้คนอื่นรับรู้หรือช่วยเหลือสอดคล้องกับงานวิจัยจาก "องค์กรยูนิเซฟ" ที่เปิดเผยในเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) http://www.thaihealth.or.th ระบุถึงผลสำรวจสถิติผู้หญิงอายุ 15-49 ปีจาก 69 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2544-2551 เกี่ยวกับความเชื่อว่าสามีที่ทุบตีหรือทำร้ายภรรยานั้นไม่ผิด โดยค่าเฉลี่ยของผู้หญิงเอเชียใน 7 ประเทศ พบว่า "ผู้หญิงเอเชียร้อยละ 41 เชื่อว่า การถูกสามีทุบตีเป็นเรื่องรับได้" ประเทศลาวมีสถิติสูงสุด ร้อยละ 81 เวียดนามร้อยละ 64 อินเดียร้อยละ 54 กัมพูชาร้อยละ 55 อินโดนีเซียร้อยละ 25 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 24 เนปาล ร้อยละ 23 ส่วนประเทศไทยนั้นยังไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลในประเด็นนี้
"ณัฐยา บุญภักดี" มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการทำงานกับผู้หญิงที่โดนสามีหรือคู่ครองทำร้ายนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะส่วนใหญ่ไม่อยากเปิดเผยความจริงให้คนอื่นรู้ ทำให้ผู้ชายไม่กลัว ติดนิสัยซ้อมเมียไปเรื่อยๆ บางคนเมากลับบ้านซ้อมเมียเป็นเรื่องปกติ หรือบางคนทำเมื่อโมโหหรือถูกขัดใจ จากประสบการณ์พูดคุยกับเหยื่อหลายรายนั้น พบว่าผู้ชายจะทุบตีรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และข่มขู่ว่าหากบอกคนอื่นจะโดนหนักกว่าเดิม
"ถามว่าทำไมผู้หญิงยอมทนให้ผัวหรือแฟนซ้อมได้ ทำไมไม่บอกเลิก ส่วนใหญ่เหตุผลคล้ายๆ กัน คือ 1.ถ้าไม่ทนก็ไม่มีกิน กลุ่มนี้พึ่งพารายได้จากผู้ชาย กลัวว่าถ้าเลิกชีวิตจะลำบากหาเงินเลี้ยงตัวเองและลูกไม่ได้ 2.ทนเพราะไม่อยากให้ลูกกำพร้าพ่อ กลุ่มนี้มีฝันถึงครอบครัวอุดมคติ อยากให้อยู่กันพร้อมหน้าพ่อ แม่ลูกเป็นครอบครัวสุขสันต์ แม้ว่าลับหลังคนอื่นจะถูกทุบตีแค่ไหนก็ยอม 3.เชื่อว่าเป็นกรรมเก่าของตัวเอง"
ตัวแทนมูลนิธิเล่าต่อว่า กว่าผู้หญิงจะยอมเปิดเผยความจริงออกมาว่าโดนซ้อม ก็ต่อเมื่อทนทรมานไม่ไหวแล้วจริงๆ เช่น กระดูกซี่โครงหัก ฟันร่วง โดนทำร้ายจนเกือบเสียชีวิต หรือกลัวถูกฆ่าสักวัน บางรายทนไม่ไหวทำร้ายสามีกลับไป ซึ่งกรณีแบบนี้น่ากลัวมาก เพราะเคยมีแม่บ้านคนหนึ่งถูกผัวซ้อมทุกครั้งที่เมากลับมาบ้าน อยู่มาคืนหนึ่งผัวออกไปกินเหล้า เธอรู้ตัวเลยว่าคืนนี้ต้องโดนซ้อมแน่ๆ จึงเอามีดไปซ่อนไว้ใต้หมอน หวังใช้มีดขู่ให้สามีกลัวไม่กล้าเข้ามาทุบตี ผลปรากฏว่าเกิดการต่อสู้กันมีดไปตัดขั้วหัวใจสามี ต้องขึ้นศาลสู้คดีว่าเป็นการป้องกันตัว แต่คดีนี้สู้ลำบากเพราะไม่มีพยานหรือคนอื่นรู้เลยว่าผัวมีพฤติกรรมเมาแล้วซ้อมเมีย
ณัฐยา กล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า ผู้หญิงที่ตกอยู่ในกลุ่มโดนสามีซ้อมนั้น ไม่ได้มีเฉพาะชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง หรือผู้อาศัยอยู่หมู่บ้านในต่างจังหวัดเท่านั้น เพราะบางคนเป็นถึงดอกเตอร์ บางรายมีเงินมีฐานะการงานดี กลุ่มนี้จะปิดบังทุกอย่าง เพราะกลัวเสียหน้า กว่าทุกคนจะรู้ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยาก ดังนั้น อยากแนะนำให้ผู้ที่โดนคู่ครองซ้อมพยายามหาใครที่ไว้ใจได้สักคนเป็นที่ปรึกษา ระบายปัญหาให้ฟัง เพื่อลดความเครียดความกดดันต่างๆ หากไม่มีใครช่วยได้ สามารถโทรศัพท์ไปปรึกษาสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เคยมีกรณีผู้หญิงถูกฉุดไปขังและข่มขืนทั้งที่ไม่รู้จักผู้ชายคนนั้นมาก่อน ไม่มีใครกล้าช่วยแค่ผู้ชายตะโกนว่า เรื่องของผัวเมียคนอื่นอย่ายุ่ง
ปัญหา "ผัวตีเมีย" กลายเป็นวัฒนธรรมเงียบ คนไทยคิดว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องช่วยกันรณรงค์ว่า "ผัวตีเมียไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สังคมต้องช่วยกัน !"
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 17 ตุลาคม 2556
- 407 views