กรุงเทพธุรกิจ -ประเด็นปัญหา เรื่องการจัดสรร งบประมาณให้โรงพยาบาล ประจำงวดไตรมาสแรก ปี 57 ต้องล่าช้า โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ออกมาชี้แจงสาเหตุ เนื่องจาก สธ.ไม่ส่งตัวเลขงบเงินเดือน ทั้งที่ได้ทำหนังสือทวงถึง 3 ครั้ง ขณะที่โรงพยาบาลต่างก็ยังรองบประมาณอยู่ ที่สำคัญหากงบล่าช้าไปแค่เดือนเดียว อาจทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทันที
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า ในการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2557ขณะนี้ทาง สปสช.อยู่ระหว่างการรอตัวเลขในส่วนของการจัดสรรงบเงินเดือนจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาทาง สปสช.ได้ทำหนังสือทวงถามไป 3 ครั้งแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ทำให้ขณะนี้ สปสช.จึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณไตรมาสแรกของปี 2557 ไปยังหน่วยบริการได้ ซึ่งหากล่าช้าอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของโรงพยาบาลได้ "เรื่องนี้การจัดสรรงบประมาณถือเป็นงานที่ต้องทำร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ตัวเลขที่จะหักและกระจายให้กับหน่วยบริการได้ โดยในปี 2557 ทางกระทรวงสาธารณสุขขอเป็นผู้เกลี่ยเงินเดือนเอง นอกจากนี้ยังมีรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมอยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องนำมาใช้คิดคำนวณ ทั้งการขยับเพิ่มค่าครองชีพทั้งในส่วนปริญญาตรี 15,000 บาท และขั้นต่ำ 300 บาท การปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และการปรับบันไดเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งทั้งหมดเมื่อยังไม่ได้ตัวเลขจึงทำให้ สปสช.ไม่สามารถคำนวณการจัดสรรได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา แต่คงต้อง เร่งหาทางออกร่วมกัน" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ที่ผ่านมาการกระจาย งบประมาณของ สปสช. จะเป็นการกระจายก่อนถึงไตรมาส เพราะเป็นการคิดงบประมาณจากการประเมินค่าใช้จ่ายและ ผลงานล่วงหน้า จึงทำให้เกิดสภาพคล่องกับทางโรงพยาบาล
สำหรับงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557นี้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 154,257 ล้านบาท หักเป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือน 38,381 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนที่โอนไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 36,822 ล้านบาท นพ.พีรพล บอกว่าแม้จะยังไม่เกิดผลกระทบ แต่เราพยายามเจรจาเพื่อให้เกิดการโอนเงินลงหน่วยบริการให้ได้ ก่อนเกิดปัญหา ซึ่งยอมรับว่าในแง่โรงพยาบาลตอนนี้ก็รองบประมาณอยู่ ซึ่งหากช้าไปหนึ่งเดือนก็เกิดปัญหาสภาพคล่องทันที
ล่าสุด นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกมาบอกว่า แต่เพื่อไม่ให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง สปสช.จะจัดสรรงบประมาณในไตรมาสแรกให้กับหน่วยบริการไปก่อน โดยใช้ตัวเลขเดิมในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 56 ราว 13,266 ล้านบาท และเมื่อได้ตัวเลขการปรับเกลี่ยเงินเดือนจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จึงจะมาทำการหักล้างทางบัญชีและจะจัดสรรเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการต่อไป
ด้านพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แย้งในประเด็นนี้ว่า ในส่วนงบเงินเดือนไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างไร และไม่ได้เกิดความล่าช้า เพราะตามปกติในการจัดสรรงบประมาณ สปสช.จะส่งงบไตรมาสแรกไปยังหน่วยบริการในช่วงปลายเดือนตุลาคมอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือจัดทำตัวเลขอยู่ และคิดว่าจะทำให้แล้วโดยเร็วที่สุด คาดว่าไม่เกินปลายเดือนนี้แน่นอน
ขณะที่ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา บอกว่า การโอนงบประมาณล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของโรงพยาบาลแน่นอน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ห่างไกล แต่ในส่วนโรงพยาบาลชุมพวงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบ เพราะยังมีเงินงบประมาณเดิมอยู่ ยังสามารถบริหารต่อไปได้อีก 2-3 เดือน แต่หากการจัดสรรงบเกิดปัญหาล่าช้ากว่านี้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทางจังหวัดและ สปสช.คงจัดสรรงบได้ทันเวลา ไม่เป็นปัญหา
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก บอกว่า ขณะนี้โรงพยาบาลอุ้มผางยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในไตรมาสแรกของปี 2557 ถือว่าล่าช้าผิดปกติ เพราะผ่าน 1 ตุลาคมมา 15 วันแล้ว ทั้งที่ปกติงบประมาณจะส่งมายังโรงพยาบาลก่อนเสมอเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณราบรื่น ไม่ทราบว่าเกิดปัญหาติดขัดอะไร
อย่างไรก็ตามทางโรงพยาบาลคงต้องรอดูอีก 10 วัน หากงบประมาณยังส่งมาไม่ถึงคงส่งผลต่อสภาพคล่องของโรงพยาบาลแน่นอน และคงต้องไปหยิบยืมเงินมาจากโรงพยาบาลอื่น อย่างโรงพยาบาลอุ้มผางก่อนจำนวน 3-4 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลก่อน เนื่องจากปัจจุบันสถานะการเงินของ โรงพยาบาลอุ้มผางเป็นแบบเดือนชนเดือน มีงบประมาณเหลือเพียงแค่ 6-7 แสนบาทเท่านั้น
"ผมอยู่ปลายทางงบประมาณ ซึ่งไม่รู้ว่าทางระดับบริหารเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไร ทำให้การจัดสรรงบประมาณในปีนี้เกิดความล่าช้า ซึ่งหากนานกว่านี้คงส่งผลกระทบโรงพยาบาลแน่นอน แต่เชื่อว่ายังเหลือเวลาอีก 10 กว่าวัน ทางกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. คงจะแก้ไขปัญหาได้" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวและว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลอุ้มผางมีปัญหางบประมาณติดลบ เนื่องจากมีผู้ป่วยต่างด้าวเข้ามารับบริการมาก โดยในปี 2556 ติดลบค่ายาถึง 12 ล้านบาท และในปี 2557 นี้ ทางโรงพยาบาลได้ขอจัดสรรงบเพิ่มเติมไปอีก 30 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นทาง สสจ. ได้จัดสรรให้ 9 ล้านบาท แต่อีก 22 ล้านบาทไม่รู้จะนำมาจากส่วนใด
นพ.วรวิทย์ บอกด้วยว่า สำหรับการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีปัญหาและส่งผลต่อทางโรงพยาบาล แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยมีการปรับการจัดสรรงบประมาณ แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในทุกปี ในการเกลี่ยงบจากส่วนอื่นเข้ามาช่วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขจึงอยากเข้ามาช่วยจัดสรรงบประมาณตั้งแต่เริ่มแรก
'ผมอยู่ปลายทางงบประมาณ ซึ่งไม่รู้ว่าทางระดับ'บริหารเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไร ทำให้การจัดสรรงบประมาณในปีนี้เกิดความล่าช้า' วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ตุลาคม 2556
- 10 views