มติชน - เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และรักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีโรงพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคม ไม่รับทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกเสียชีวิตว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า โรงพยาบาลกระทำผิดมาตรฐานการรักษาตามสัญญาของ สปส.หรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมทุกแห่งจะให้การรักษาโรคต่างๆ ยกเว้นการคลอดบุตร โดยสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรของประกันสังคมที่กำหนดไว้ให้ผู้ประกันตนสามารถเบิกเงินค่าคลอดบุตรได้คนละ 1.3 หมื่นบาทต่อการคลอดบุตร 1 คน และไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ได้ โดยสำรองเงินจ่ายไปก่อน และนำหลักฐานการจ่ายเงินมายื่นเบิกเงินจาก สปส.ภายหลัง
นายจีรศักดิ์กล่าวอีกว่า สปส.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การเบิกเงินสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตร จากปัจจุบันให้ผู้ประกันตนสำรองเงินจ่ายไปก่อน และนำหลักฐานมายื่นเบิกเงินจาก สปส.ภายหลัง เป็นให้โรงพยาบาลที่ทำคลอดมาเบิกเงินจาก สปส.โดยตรง อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกันตนในเบื้องต้น พบว่าผู้ประกันตนบางส่วนอยากให้ใช้แนวทางปัจจุบัน เนื่องจากเกรงว่าโรงพยาบาลจะเขียนข้อมูลเบิกเงินในราคาที่สูง จนผู้ประกันตนไม่มีเงินเหลือ อีกส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่จะให้โรงพยาบาลเบิกค่าทำคลอดจาก สปส.โดยตรง
"ผมได้ให้คณะทำงานเร่งศึกษาและหาข้อสรุป เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้น จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ประกันตนว่าต้องการทางเลือกใด หรือควรให้มีทั้ง 2 ทางเลือก คาดว่าภายใน 2 เดือน จะมีความชัดเจน" นาย จีรศักดิ์กล่าว
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view