บ้านเมือง - น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต และช่วยกันป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลาม สำหรับปีนี้ได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตกับผู้สูงอายุ "Mental health and older adults" ซึ่งพบว่า ทั่วโลกประชากรผู้สูงอายุนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ ว่า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 1,963 ล้านคน หรือ ร้อยละ 22 ในอีก 37 ปีข้างหน้า หรือ ปี พ.ศ.2593 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยปัจจุบันมีสูงถึง 9,517,000 คน หรือ 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศ โดย ในปี พ.ศ.2593 คาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุจะล้นเมือง มีจำนวนมากถึง ร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น เรื่องของสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดีจึงมีความสำคัญยิ่งกับผู้สูงอายุ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุมากกว่า 20% ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาทางระบบประสาท โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อม ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อม เป็นความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่ได้รับผลกระทบจากโรค หรือความผิดปกติบางอย่าง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการความจำเสื่อม มีความถดถอยของพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เกิดอาการสับสน และอาการผิดปกติด้านการพูดและความเข้าใจ อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทบกระเทือนกับการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมของผู้ป่วย โดยมีการคาดการณ์ว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมประมาณ 35.6 ล้านคน ทุก 20 ปี จะมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และภายในปี ค.ศ.2050 จะมียอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรวมกว่า 115.4 ล้านคน ทั้งนี้ พบว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด พบประมาณร้อยละ 60-80 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด รองลงมาคือ ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด สำหรับในประเทศไทยมีรายงานอัตราความชุกของภาวะสมองเสื่อมที่แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษาขึ้นกับกลุ่มประชากรและพื้นที่ที่สำรวจ ในปี ค.ศ.2005 กระทรวงสาธารณสุขได้เคยคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทยไว้ว่า มีจำนวนประมาณ 229,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้น 450,000 คน และ 1,200,000 คนในปี ค.ศ.2020 และ 2050 ทั้งนี้ เป็นโรคอัลไซเมอร์ ประมาณร้อยละ 40-70 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด
สำหรับ การรักษาภาวะสมองเสื่อม อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า บางกลุ่มอาการรักษาไม่ได้ แต่ก็มีบางกลุ่มอาการที่สามารถรักษาได้ถ้าค้นพบสาเหตุได้ชัดเจน การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วและแม่นยำจึงสำคัญยิ่ง ทั้งนี้สามารถป้องกันได้ โดยบริหารสมอง บริโภคอาหาร รักษาร่างกาย ผ่อนคลายความเครียด
บริหารสมอง โดยการฝึกให้ทักษะการใช้มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้สามารถรับรู้และเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ให้ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและสมองส่วนต่างๆ ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เช่น เต้นรำ เล่นหมากรุก หมากล้อม โยคะ รำมวยจีน ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานบ้านหรืองานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น บริโภคอาหาร โดยรับประทานอาหารครบหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัดหรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น เลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสมอง เช่น ธัญพืชหรือถั่ว ผักใบเขียวทุกชนิด ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง ผลไม้รสเปรี้ยว ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทูน่า เป็นต้น
รักษาร่างกาย โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ หากมีอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ที่สำคัญ ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น
ผ่อนคลายความเครียด โดยการหารูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุดและสามารถนำมาใช้ได้กับชีวิตจริง เช่น การฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ การฝึกสมาธิ การพูดคุย หรือพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
"ทั้งนี้ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ กรมสุขภาพจิตได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการคลินิกสุขภาพจิตกับผู้สูงอายุใน โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันนี้ รพ.จิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตบางแห่งมีแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เฉพาะทางจิตเวชผู้ สูงอายุอยู่แล้ว อาทิ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาและ รพ.สวนสราญรมย์ ฯลฯ นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหา โดย ในกลุ่มเสี่ยง จัดให้มีการคัดกรองผู้สูงอายุ ติดบ้าน/ติดเตียงที่มีภาวะซึมเศร้าและให้คำแนะนำในการจัดการตนเองเมื่อเกิดโรคซึมเศร้า เชื่อมโยงกับระบบช่วยเหลือในโรงพยาบาล และจัดโปรแกรมดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ กลุ่มมีปัญหา จะมีบริการคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น และให้บริการดูแลรักษาโรคซึมเศร้าต่อเนื่องที่ได้มาตรฐาน ตลอดจน ในปี 2557 มีแผนการดำเนินงานดูแลสังคม จิตใจ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 12 ตุลาคม 2556
- 26 views