ศาลฎีกายกฟ้อง ร.พ.พญาไท 1 เรียก 100 ล้าน ปธ.เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กล่าวหา ทำคลอดบุตรพิการ ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน หลังต่อสู้กันนานกว่า 11 ปี ขณะที่เครือข่าย ผู้ป่วยเชื่อเป็นบรรทัดฐานใหม่ของผู้เสียหายทางการแพทย์
ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัทโรงพยาบาลพญาไท 1 จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางปรียนันท์ หรือ ดลพร ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นจำเลย เรื่องละเมิดจากการหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่ จำเลยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเมืองไทยรายวัน ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถึงการทำคลอดของโรงพยาบาล ที่ส่งผลให้ น้องเซนต์ บุตรชาย ออกมาต้องกลายเป็นคนพิการขาสั้นยาวไม่เท่ากัน
โดยคดีนี้ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นการกล่าวไปตามความเข้าใจเพื่อความชอบธรรม และปกป้องสิทธิตามคลองธรรม จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโรงพยาบาล และยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกาและศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงได้ยกฟ้อง
นางปรียานันท์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ทางศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาโดยยกฟ้องกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายตน 100 ล้านบาท กรณีที่ตนไปออกรายการ "เมืองไทยรายวัน" ทางช่อง 9 อสมท.และเมื่อ 29 ก.ย.2545 ได้ไปพูดที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เล่าข้อเท็จจริงปัญหาการคลอดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว เพื่อให้ตนหยุดการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องเกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2534 ซึ่งได้ตั้งท้องครั้งแรก ไม่มีโรคประจำตัว
ขณะนั้นลูกในท้องหนัก 4,050 กรัม อยู่ในท่าคลอดที่ผิดปกติ แต่เนื่องจากในระหว่างการคลอดเกิดปัญหา ซึ่งเห็นว่าเกิดจากความผิดพลาดในการรักษาส่งผลให้ท้ายทอยลูกเกิดห้อเลือดก่อนโต และต้องมีการให้เลือดผ่านสายสะดือ จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง และเกิดภาวะหนองทำลายข้อสะโพกซ้ายเสียหาย เป็นเหตุให้กระดูกต้นขาหลุดอยู่นอกเบ้า ขาสั้นยาว+ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ต้องเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง ตั้งแต่ขวบครึ่ง-สามขวบครึ่ง ต้องใส่เฝือกนาน 6-8 เดือนหลายครั้ง ไม่นับรวมความเสียหายทางจิตใจ+การเสียโอกาสหน้าที่การงานในอนาคต หลังอายุ 20 ปี ต้องผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมทุก 10 ปี เพื่อแก้ไขอาการทรุดเคลื่อนตัวหมอนรองกระดูกสันหลัง
"ปัจจุบันลูกอายุ 22 ปี ยังไม่ได้รับการผ่าตัดจากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ทำให้มีคดีความฟ้องร้องต่อกันหลายคดี ทำให้ครอบครัวดิฉันถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ไปกับการรักษาลูก และต่อสู้คดีความที่ยาวนาน เดิมไม่เคยคิดฟ้องร้อง แต่เห็นลูกทุกข์ทรมาน จึงอุ้มลูกกลับไปทวงถามความรับผิดชอบหลายครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธ" ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว
นางปรียนันท์ กล่าวด้วยว่า การชนะคดีได้สร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมไทย ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องสิทธิของตนและสาธารณะ ต้องได้รับความคุ้มครอง อีกทั้งยังเรียกขวัญและกำลังใจของเพื่อนผู้เสียหายที่กำลังท้อแท้ ถอดใจ ให้มีกำลังใจที่จะฮึดสู้และอดทนต่อการรอคอยความเป็นธรรมอย่างมีความหวังต่อไป สำหรับคดีนี้คงไม่ทำอะไรต่อ คงจบกันแค่นี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 ตุลาคม 2556
- 80 views