กระทรวงสาธารณสุขในยุครัฐมนตรี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และปลัดกระทรวง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ มีการชูธงการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขในหลายด้าน และหัวใจประการหนึ่งซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่จะสถาปนาให้มีความสำคัญขึ้นมาคือ "เขตสุขภาพ"
เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขนั้นก็คือการรวมเอาหลายจังหวัดในภูมิภาคเดียวกันมารวมกันนั่นเอง แบ่งออกมาเป็น 12 เขตสุขภาพ คือภาคเหนือมี2 เขต ภาคกลาง-ตะวันออก 4 เขต ภาคอีสาน 4 เขต และภาคใต้ 2 เขต โดยมีผู้ตรวจราชการ 12 คนรับผิดชอบบริหารจัดการในเขตสุขภาพนั้นๆ ซึ่งโดยหลักคิดก็ดูจะมีเสน่ห์ไม่น้อย ถือเสมือนเป็นความก้าวหน้าในการกระจายอำนาจจากกรุงเทพฯ-นนทบุรีในส่วนกลาง กระจายมาที่เขตสุขภาพในแต่ละภูมิภาคแทนแต่แท้จริงหาได้สวยหรูเช่นนั้นไม่
การจัดการอำนาจนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับมากที่สุดคือการออกนอกระบบ ปกครองตนเอง เฉกเช่นกรณีของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(มหาชน) ระดับมากคือการกระจายอำนาจ โดยยกอำนาจส่วนใหญ่ในตัดสินใจการบริหารจัดการให้แก่องค์กรในพื้นที่ โดยส่วนกลางทำหน้าที่เพียงการควบคุมกำกับทิศทางและผลลัพธ์เป็นสำคัญ ซึ่งสำหรับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังไม่เคยมีกระจายอำนาจในลักษณะนี้ให้เห็น ส่วนรูปแบบการจัดการอำนาจที่กระจายน้อยสุดก็คือการมอบอำนาจ หมายความว่าอำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลางหรือปลัดกระทรวงเช่นเดิมแต่มอบอำนาจบางส่วนที่ปลัดมีให้กับผู้ตรวจราชการในแต่ละเขตเป็นผู้ใช้อำนาจแทน แต่อำนาจเหล่านี้ยังถูกกำกับและขอคืนได้จากส่วนกลาง
ด้วยกรอบคิดการจัดการอำนาจที่มี 3 รูปแบบหลักนี้ เขตสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมานี้เป็นเพียงการจัดการอำนาจแบบการมอบอำนาจเท่านั้น จากเดิมที่มอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ก็มาเพิ่มขั้นตอนอีกชั้นผ่านระดับเขตก่อนถึงกระทรวง ผู้ตรวจราชการทุกคนยังต้องรอสัญญาณการหันซ้ายหันขวาจากกรุงเทพฯ ยังต้องฟังเสียงและทำตามแนวทางหรือข้อตกลงที่สั่งการจากกรุงเทพฯไม่ใช่ฟังจากพื้นที่ การมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ที่มาเป็นกรรมการก็เป็นเพียงผู้แบ่งเค้กภายใต้กรอบและกติกาที่ส่วนกลางกำหนดมาแล้วจึงหาได้เป็นการกระจายอำนาจไม่ แต่คือการกระชับอำนาจมากกว่า
นพ.บรรพต พินิจจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "ถ้าให้ สธ. จัดสรรเงิน แทน สปสช. สิ่งที่น่ากลัวคือ การจัดสรรหรือไม่จัดสรรตามใจผู้มีอำนาจ ดังเช่นที่โรงพยาบาลมโนรมย์โดนมาแล้วที่ผู้ตรวจราชการไม่จัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มส่วนที่ควรจะได้เหมือนโรงพยาบาลอื่นให้ เพราะเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ยอมทำ P4P ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่สปสช. ไม่เคยทำ สปสช. จะยึดหลักเกณฑ์จากบอร์ดแล้วจัดสรรตามหลักเกณฑ์นั้นไม่ใช้อำนาจส่วนตัวหรือความเห็นส่วนตนมาบิดเบือนเหมือนผู้ใหญ่ของ สธ."
เขตสุขภาพไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่แท้จริงคือการกระชับอำนาจ จัดแถวปราบกบฏ และเพิ่มขั้นตอนการควบคุม ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน ภาคประชาชนไม่มีที่ยืนในกรรมการระดับเขต หรือแม้แต่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็ยังหาที่ยืนยาก ไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่มีหลักประกันว่า ผู้ใหญ่ในกระทรวงจะมีความเป็นกลางและเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ไม่มีหลักประกันว่า การมีเขตสุขภาพที่ยึดอำนาจการจัดสรรงบประมาณมาจาก สปสช.จะไม่ละเลงงบด้วยระบบพรรคพวกและมือใครยาวสาวได้สาวเอา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 8 ตุลาคม 2556
- 13 views