ไทยโพสต์ - ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ * แพทย์ชนบทบุกยื่นหนังสือ "หมอประดิษฐ" ค้านการรื้องบจัดสรร รพ.ของ สปสช.ระบุการเกลี่ยงบจากอีสานให้พื้นที่ชลบุรี ถือว่าไม่เป็นธรรมกับหน่วยที่ถูกดึงงบไป ขณะที่ "หมอประดิษฐ" อ้างเป็นเรื่อง สปสช.ทำเอง สธ.ไม่เกี่ยว
ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชาวโรงพยาบาลชุมชน นำโดย นพ.วชิระ บทพิบูลย์บท จากชมรม ผอ.รพ.ชุมชน และชาว รพ.ชุมชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอคัดค้านการรื้อแนวทางการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบ 2557 โดย นพ.วชิระกล่าวว่า จากการที่ สธ.ได้ส่งสัญญาณอย่างโจ่งแจ้งว่าจะรื้อการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีงบ 2557 โดยผ่านการพิจารณาของบอร์ด สปสช.แล้ว นับว่าเป็นความพยายามรวบอำนาจการจัดสรรงบของ สปสช.มาอยู่ที่ สธ. การปรับเปลี่ยนงบ ได้แก่ 1.งบผู้ป่วยนอกจากที่โอนตรง รพ.100% สธ.จะโอนตรงเพียง 80% อีก 20% ต้องให้ สธ.จัดสรรเองตามผลงาน 2.งบผู้ป่วยในที่เคยจัดสรรตาม กลุ่มโรคจะเปลี่ยนมาใช้ Unit Price ทั้งๆ ที่ไม่มีเคยมีการศึกษาหรือทดลองใช้ว่าดีกว่า และวิธีคำนวณก็ยังมั่วมาก
3.งบส่งเสริมป้องกันโรค สธ.หวังจะยึดมาทำเอง หรือไปก็ทำให้ป่วนด้วยการส่งงบตรงไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำให้เอกภาพและเกลี่ยงบช่วยกันระดับอำเภอล้มเหลว อีกทั้งมีแนวคิดที่จะยกเลิกงบที่สมทบกองทุนตำบล เพื่อนำกลับมาให้ สธ.ทำเรื่องสร้างสุขภาพเองด้วย 4.งบลงทุนค่าเสื่อม จากเกณฑ์ใหม่ที่แบ่งลงอำเภอ : ส่วนกลาง เท่ากับ 80:20 สธ.จะรวบมาจัดการระดับจังหวัด เขต และ 5.งบกองทุนย่อยต่างๆ จะให้ยกเลิกหรือยุบกองทุนลงไปอีก โดยให้เหตุผลที่รับไม่ได้ว่าทั้งกองทุนเอดส์ ผ่าตัดต้อกระจก ล้างไต หรือจิตเวช ไม่ได้ทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.วชิระกล่าวว่า การผลักดันการรื้อมติ สปสช.โดยขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น ต้องเริ่มด้วยการศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และจัดทำเป็นร่างข้อเสนอที่มีเอกสารการศึกษาทางวิชาการ หลังจากนั้นก็ต้องนำเข้าเสนอผ่านคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง หรืออนุกรรมการชุดต่างๆ ของ สปสช. หากคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบจึงนำเข้าวาระปกติ ไม่ควรเสนอมาอย่างรีบเร่ง เข้าวาระโดยที่ไม่มีผลการศึกษาล่วงหน้า และไม่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการกระจายงบปี 2557 ไปแล้ว
ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทกล่าวอีกว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมา 10 ปีนั้น ได้ถูกวางรากฐานไว้อย่างดี เน้นหลักการเอาเงินไปให้ใกล้ชาวบ้านให้มากที่สุด แต่การรื้อการจัดสรรครั้งนี้เป็นไปเพื่อการดึงอำนาจการจัดสรรเงินกลับไปสู่ส่วนกลาง ทั้งนี้ การที่กระทรวงมั่วนิ่มคิดเกณฑ์ที่ไม่มีใครรู้จักมาใช้ในการจัดสรรเกลี่ยงบประมาณในระดับเขต คือปกติงบค่าหัวที่ สปสช.จ่ายให้กับโรงพยาบาลโดยตรงจะถูกหัก 60% เป็นค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งส่วนนี้จะต้องถูกนำส่งเข้าคลัง เนื่องจากทางกระทรวงการคลังได้จ่ายค่าจ้างให้กับบุคลากรอยู่แล้ว แต่แทนที่จะคิดตามจำนวนข้าราชการของแต่ละพื้นที่ พื้นที่ไหนมีข้าราชการน้อยก็จ่ายน้อย พื้นที่ไหนมีข้าราชการมากก็จ่ายมาก สธ.กลับให้หลักการคิดเฉลี่ยเพื่อให้หน่วยงานสามารถดำเนินงานต่อไปได้ (Minimum operating cause : MOC) ทำให้มีการเกลี่ยงบจากเขต 9, 10, 11, 12 หรือพื้นที่แถบภาคอีสานไปให้บางพื้นที่ โดยเฉพาะเขต 4 ชลบุรี กว่า 5,000 ล้านบาท ถือว่าไม่ยุติธรรมกับหน่วยบริการในพื้นที่ที่ถูกเกลี่ยงบไป การจัดสรรงบเช่นนี้ด้วยเกณฑ์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นวิชาการ" นพ.วชิระกล่าว
"ไม่คิดว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือมีนัยยะอะไรแอบ แฝง แต่คิดว่าเป็นเรื่องของการแสดงพลัง แสดงให้เห็นความสามารถมากกว่า แต่การจะทำอย่างนี้ หลักเกณฑ์นั้นจะต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ ผ่านการศึกษาทางวิชาการว่ามีประสิทธิภาพก่อน" นพ.วชิระกล่าว
ด้าน นพ.ประดิษฐกล่าวภายหลังการรับมอบยื่นหนัง สือว่า ไม่มีการรื้องบประมาณแต่อย่างใด เรื่องการจัดสรรงบเป็นเรื่องของทางคณะกรรมการ สปสช. โดยเฉพาะอนุ กรรมการด้านการเงินการคลังพิจารณา
ขณะเดียวกัน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า เรื่องการรื้องบนี้ไม่ทราบ โดยเฉพาะกรณีที่มีข่าวว่าจะมีการโยกงบจากภาคอีสาน 5,000 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการโยกงบจากเขตไหนไปเขตไหน แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณที่อยากทำให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น และที่ผ่านมาเป็นการประชุมภายใน สธ. ว่าจะบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร เป็นการประชุมเมื่อวันที่ 3-4 ต.ค.ที่ผ่านมา และจะมีการพูดคุยในทุกระดับในเร็ววันนี้ว่าเราคิดอย่างไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 8 ตุลาคม 2556
- 8 views