โพสต์ทูเดย์ - สช.ระดมสมองแก้ด็กไทยติดเกมพุ่ง 2.5ล้านคน ชี้แจกแท็บเล็ตป.1ยังขาดความพร้อมเสนอรื้อกม.ใบอนุญาตร้านเกม
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะทำงานจัดการข้อมูลประเด็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีเด็กไทยกับไอที กระทรวงวัฒนธรรม จัดเวทีระดมสมองขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านไอที แก้ปัญหาเด็ก-เยาวชนติดเกม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชนเข้าร่วม ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น ฮอลล์ อาคารเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต
ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน หัวหน้าคณะทำงานจัดการข้อมูลประเด็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีเด็กไทยกับไอที กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเด็กติดเกมถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนากระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตและการเล่นเกมของเด็กอย่างเหมาะสม พัฒนาร้านเกมอินเทอร์เน็ตให้เป็นสถานที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และเป็นมิตรกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมถึงพัฒนาวิธีการวินิจฉัยเด็กและบำบัดเด็กติดเกมและอินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องกับมิติของสังคมไทย พัฒนาศักยภาพของโรงเรียน ครอบครัวและชุมชนในการแก้ปัญหา รวมทั้งหาสถานที่ให้เด็กใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์
“ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้มาตรการแก้ปัญหาตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นได้ภายในปี 2556 หากการดำเนินการล่าช้า จะยิ่งทำให้ขนาดของปัญหาใหญ่ขึ้น ดังนั้นทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ควรร่วมมือกันอย่างสมานฉันท์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและความคิดเห็นที่สมบูรณ์ นำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง” ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร
ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร กล่าวว่า ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะเรื่องการแจกแทปเล็ตและแลปท็อปให้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่ายังมีปัญหาเรื่องการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรของสถานศึกษา ขาดเทคนิคที่จำเป็นในการใช้งาน การเก็บรักษา รวมถึงความไม่พร้อมของผู้ปกครองในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในส่วนของเนื้อหาสำหรับเด็ก ยังขาดความหลากหลาย ขาดแอปพลิเคชั่นที่เหมาะสม ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรเร่งรัดการอบรมครูผู้สอน การพัฒนาระบบข้อมูลกลาง และดึงภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแอบพลิเคชั่นสำหรับเด็ก อีกทั้งควรประสานงานกับภาคส่วนต่างๆมากขึ้น และมีคณะทำงานติดตามนโยบายสาธารณะด้านแทปเล็ต โดยให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ
ขณะเดียวกันควรพิจารณาถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เนื่องจากนโยบายของภาครัฐมีการใช้งบประมาณสนับสนุนแทปเล็ต แลปท็อป รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆเพิ่มขึ้นทุกปี จึงควรมีวิธีกำจัดขยะเทคโนโลยีที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยจำนวนเด็กติดเกม 2.5ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 18 ล้านคน ถือเป็นสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13.3 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ14.4 ในปี 2555 ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและพยายามเข้าไปแก้ปัญหาในเชิงรุกด้วยการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปให้ความรู้ถึงในโรงเรียน พร้อมใช้มาตรการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ปล่อยให้ปัญหาบานปลายถึงขั้นเด็กติดเกมอย่างหนัก ซึ่งทำให้การบำบัดรักษาทำได้ยากมากขึ้น นอกจากนั้น จะต้องเร่งรัดในการพัฒนาเครือข่ายของผู้ปกครองให้มีความเข้มแข็ง พร้อมจับมือกับกระทรวงวัฒนธรรมในการกระจายความรู้ไปยัง ๔ ภูมิภาค ร่วมกับแกนนำชุมชน “ขณะนี้เราต้องวางวิสัยทัศน์ในอีก 10ปีข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาเด็กติดไอทีอย่างไร ต้องระดมทั้งความรู้และเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับโรงเรียน เด็ก ครอบครัว และชุมชน"
ขณะที่ประเด็น นโยบายด้านสถานที่สาธารณะกับการให้บริการกับไอที : กรณีการให้บริการร้านเกมและอินเทอร์เน็ต และอุตสาหกรรมด้านไอทีที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้หารือกันถึงการประกอบกิจการร้านเกม ที่ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดร้านเกมสีขาว และปรับปรุงเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตให้เข้มงวดมากขึ้น โดยให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา เพราะมีส่วนได้เสียโดยตรง พร้อมกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการให้บริการ พร้อมทั้ง ปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันมีร้านเกมส่วนใหญ่ ใช้ช่องว่างกฎหมายของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงไอซีทีและกระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินการปิดช่องว่างนี้อยู่ รวมถึงมีการกำหนดเรทติ้งเกมให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้มีมาตรฐานการบริการในร้านเกม กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐานราคาขั้นต่ำ แบ่งโซนการเรียนรู้ในร้าน จะช่วยทำให้ร้านเกมดีๆดำรงอยู่ได้ ขณะที่ร้านเกมที่เลี่ยงกฎหมายจะหมดไป
นอกจากนั้น ต้องสร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองเด็ก และเยาวชนมีความรู้เท่าทันสื่อ มีห้องเรียนสำหรับครอบครัว โดยกำหนดเป็นข้อบังคับให้สถานศึกษาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนของส่วนอื่นๆตามมา และเน้นการประชาสัมพันธ์ในสื่อกระแสหลักมากยิ่งขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 ตุลาคม 2556
- 11 views