ไทยโพสต์ - "หมอประดิษฐ" รับลูกกรมบัญชีกลาง คุมเข้มค่ายาสิทธิ ขรก. ออกประกาศให้ยาสามัญบวกกำไรได้กว่า 300 เท่า ส่วนยาต้นแบบบวกได้ไม่เกิน 3% หวังบีบให้หมอสั่งยาสามัญเพิ่ม ขณะเดียวกันเตรียมแก้ระเบียบเปิดทาง รพ.ใช้เงินกำไรค่ายาไปดูงานต่างประเทศได้ พร้อมกับห้ามบริษัทยาเป็นสปอนเซอร์ให้หมอ-รพ.ไปเมืองนอกโดยตรง บริษัทใดฝ่าฝืนขึ้นแบล็กลิสต์ "นายกแพทยสภา" ชี้ทำได้แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตคนไข้ด้วย ยาที่สั่งให้กินต้องหายเจ็บหายป่วย
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ. แล้วว่าทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังสถานพยาบาลในสังกัดหน่วยงานราชการ รวมถึง สธ. ว่ากรมบัญชีกลางเตรียมที่จะปรับเปลี่ยนการเบิกจ่ายค่ายาในระบบสวัสดิการราชการ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการรักษาผู้ป่วยในระบบนี้ ส่วนใหญ่สั่งจ่ายยาต้นแบบให้กับผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนยาสามัญนั้นมีการสั่งจ่ายน้อยมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ยาสามัญและลดค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการข้าราชการ กรมบัญชีกลางจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายใหม่ โดยในกรณีการสั่งจ่ายยาต้นแบบให้โรงพยาบาลบวกกำไรค่ายาได้ไม่เกิน 3% แต่ในกรณีที่เป็นการจ่ายยาสามัญนั้นจะให้บวกกำไรได้มากขึ้น อาจบวกเพิ่มสูงถึง 100-300% ของต้นทุนค่ายา ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการจูงใจสถานพยาบาลสั่งจ่ายยาสามัญเท่านั้น แต่ยังสามารถชด เชยโรงพยาบาลในส่วนกำไรที่สูญหายไปจากการเปลี่ยนสั่งจ่ายยาต้นแบบเป็นยาสามัญ
"ในฐานะที่เป็นรัฐบาล มองว่าหลักเกณฑ์นี้จะเป็นการดึงเม็ดเงินที่เคยสูญเสียไปกับการสั่งจ่ายยาต้นแบบกลับเข้าโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ เช่น ยาบางตัวหากเป็นยาต้นแบบ ราคาจะอยู่ที่เม็ดละ 70 บาท แต่ในกรณียาสามัญอยู่ที่เม็ดละ 5 บาท โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเบิกได้ในราคาเม็ดละ 35 บาท" รมว.สธ.กล่าว และว่า แม้ระเบียบดังกล่าวจะทำให้ประหยัดงบประมาณลงไปได้ แต่งบที่รัฐบาลเคยให้ก็คงไม่ปรับลด แต่จะนำไปเพิ่มเติมในส่วนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เช่น การเบิกจ่ายค่าห้องพิเศษได้มากขึ้น หรือเบิกจ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสอีกช่องทางหนึ่งของโรงพยาบาลที่จะสามารถสร้างรายได้จากสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้อีก เรียกว่าเป็นแนวทางที่สามารถยอมรับกันได้ทุกฝ่าย
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า กำไรที่ได้เพิ่มจากปรับเปลี่ยนการเบิกจ่ายค่ายาจะนำไปใส่ไว้ในเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล ขณะเดียวกันจะให้มีการแก้ไขระเบียบการใช้เงินดังกล่าวสนับสนุนเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศได้ในเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งจะกำหนดแนวทางปฏิบัติของบริษัทยาด้วย ว่าห้ามสนับสนุนเงินมาแก่แพทย์หรือ รพ.ในการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศเด็ดขาด เพราะถือเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่จริยธรรม อาจถูกตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไปดูงานกับบริษัทยาแล้ว แพทย์ต้องไปช่วยสั่งยาของบริษัทยาดังกล่าวด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ หากพบว่ามีการฝ่าใน สธ.จะขึ้นแบล็กลิสต์ไม่ให้ค้าขายกัน ยกเว้นมอบให้ส่วนกลางหรือจังหวัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาทุนกันเองว่าจะให้ใครไปอย่างไร
นพ.ประดิษฐกล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา สธ.มีรายได้จากระบบสวัสดิการข้าราชการปีละ 20,000 ล้านบาท 70-80% เป็นค่ายา หรือคิดเป็นเงินราว 17,000 ล้านบาท มีทั้งกลุ่มยาต้นแบบและยาสามัญ ทั้งนี้ เชื่อว่าหากลดสัดส่วนการใช้ยาต้นแบบลงได้ เฉพาะ รพ.ในสังกัด สธ.จะประหยัดงบได้ 5,000-6,000 ล้านบาท และปรับอัตราการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าวมีผลเฉพาะระบบสวัสดิการข้าราชการเท่านั้น ไม่รวมการเบิกจ่ายระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่การจะทำอย่างนี้ได้คุณภาพของยาจะต้องเท่ากัน เพราะการใช้ยาของแพทย์ก็อยู่ที่ความมั่นใจของแพทย์ด้วย การรักษาต้องแน่ใจว่าหาย หากให้ยาที่ไม่มีคุณภาพยิ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น เพราะการรักษาไม่หาย หรืออาจเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังตามมาด้วย เพราะฉะนั้นอย่ามองที่เรื่องเงินอย่างเดียว ต้องดูที่คุณภาพด้วย
"ที่จริงการใช้ยาชื่อสามัญก็ดีที่สุด แต่ต้องมีการควบคุมมาตรฐานยาสามัญให้ดี อย่าประมูลโดยวิธีการถูกที่สุด ต้องดูที่คุณภาพด้วย อย่างนั้นไม่มีปัญหา แต่นี่ใช้วิธีการห้ามบวกกำไรเกินที่กำหนดนั้นคิดว่าคงทำไม่ได้ ตัวเลขหลอกได้ คิดว่านี่เป็นวิธีการเอายาต้นแบบออก เพราะว่าได้กำไรน้อย เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่าเน้นเรื่องเงินอย่างเดียว ต้องดูคุณภาพด้วย เพราะชีวิตก็มีคุณค่าไม่ได้ถูกอย่างราคายา" นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า การจะบังคับให้ใช้ยาอย่างเดียวกันหมดนั้นไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะอย่างน้อยคนต้องมีสิทธิในการเลือกจ่าย แต่เรายินดีจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้ยาที่ดี
ส่วนกรณีที่ระบุว่าจะนำเงินที่ได้จากการประ หยัดค่ายาไปเป็นเงินบำรุงให้เจ้าหน้าที่ของ รพ.ใช้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากบริษัทยาเอกชน ที่ผ่านมามีการหารือเรื่องนี้ พบว่ามีทั้งข้อดี-ข้อเสีย เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหาร การดูงานหากเป็นประเทศดีๆ ฝ่ายบริหารมักจะไปเอง ส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจริงไม่ค่อยได้ไปไหน ดังนั้นตรงนี้หากจะทำจริงต้องวางหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปัญหาว่าใช้เงินบำรุงของ รพ.ไปเที่ยว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 7 ตุลาคม 2556
- 9 views