Hfocus -แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพตามความเป็นจริง แต่สำนักงานข่าว Hfocus ก็ไปสืบเสาะหามาจนพบ นาทีนี้เด็กไทยวัย 9 เดือน ถึง 6 ปี อยู่ในความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว
ปัจจุบันวัคซีนป้องกัน “โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม” กำลังขาดแคลน!!!
โรคหัด (Measles) เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ ติดต่อได้ง่ายทางเสมหะ น้ำลาย เกิดจากเชื้อ Measles virus มักเป็นกับเด็กเล็ก 9 เดือน ถึง6 ปี ระยะติดต่อของโรคอยู่ที่ประมาณ 2-4 วัน จึงแสดงอาการออกผื่น และหลังเกิดผื่นแล้วยังติดต่อได้อีก 2-5 วัน ส่วนใหญ่ระบาดตอนฤดูหนาวถึงฤดูร้อน
สำหรับระยะฟักตัวหลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว 8-12 วัน โดยอาการนำเริ่มต้นด้วยเด็กจะมีไข้สูง อาการงอแง กระสับกระส่าย ปวดตามตัว น้ำมูกไหล ตาจะแดงและแพ้แสง ไอแห้งๆ มีอาการไข้สูงปวดตามตัว ระยะที่เริ่มเป็น 2-3 วันแพทย์อาจตรวจพบผื่นแดงเล็กๆ ในปาก
จากนั้นเข้าสู่ระยะออกผื่นขึ้นหน้าผากและลามไปที่หน้า คอ และลำตัวในเวลา 24- 36 ชั่วโมง เมื่อผื่นขึ้นอาการปวดเมื่อจะดีขึ้น ไข้จะค่อยๆ ลดลง โดยผู้ที่ขาดวิตามินเอ หรือผู้ป่วยโรคเอดส์จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
จดหมายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งตรงถึงผู้อำนวยการสปสช.สาขาเขตทั่วประเทศ เพื่อแจ้งว่าวัคซีนกำลังขาดแคลน
“ตามที่สปสช.ร่วมกับกรมควบคุมโรค สธ. และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตามมติคณะกรรมการสปสช.ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 จนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีการขยายความต้องการวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ชนิด Single dose สำหรับเด็ก 9 เดือน ทั้งระดับประเทศและนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนวัคซีนดังกล่าว
อภ.ซึ่งทำหน้าที่จัดหาวัคซีนไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ตามแผนที่สปสช.แจ้งจัดให้ซื้อ ประกอบกับอัตราการใช้วัคซีนของหน่วยบริการทั่วประเทศเพิ่มขึ้นในระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. ซึ่งสปสช.ได้ติดตามและประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และได้จัดการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนปีงบประมาณ 2557 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกับหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ในการนี้เพื่อให้หน่วยบริการแต่ละหน่วยที่เกี่ยวข้องทราบสถานการณ์ และสามารถวางแผนการให้บริการกับเด็กกลุ่มเป้าหมายได้ สปสช.จึงขอแจ้งสถานการณ์วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม สำหรับเด็ก 9 เดือน ขาดคราวระหว่างวันที่ 15 ก.ย.-15 ธ.ค.2556 โดยอภ.จะจ่ายวัคซีนให้กับหน่วยบริการที่มีรอบรับวัคซีนระหว่างวันที่ 5-10 ก.ย.เป็นรอบสุดท้ายก่อนระงับการจ่ายวัคซีนดังกล่าว
และจะเริ่มจ่ายวัคซีนอีกครั้งในวันที่ 5-10 ธ.ค. ทั้งนี้สำนักงานโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แนะนำให้หน่วยบริการพิจารณาเลื่อนนัดเด็ก 9 เดือน ที่ครบกำหนดฉีดวัคซีนในช่วงที่วัคซีนขาดคราวออกำไป โดยให้เริ่มนัดอีกครั้งหลังจากวันที่ 15 ธ.ค.2556 ซึ่งการเลื่อนนัดฉีดวัคซีนดังกล่าวเด็กจะได้รับวัคซีนในช่วงอายุไม่เกิน 12 เดือน ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ” จดหมายลงนามโดยนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.
ขณะที่ สธ.เอง โดย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดสธ.ในขณะนั้น ได้ออกจดหมายลงวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา แจ้งให้นายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.)ทุกจังหวัด เลื่อนการให้วัคซีนรวม 3 โรค ในเด็กอายุ 9-12 เดือน สำหรับสาระสำคัญเป็นเช่นเดียวกับหนังสือข้างต้น
ล่าสุด นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. อธิบายว่า สถานการณ์วัคซีนรวมป้องกัน 3 โรค หรือ (MRR) กำลังขาดแคลนทั่วโลก ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบขาดแคลนเช่นกัน โดยวัคซีนนี้ถือเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้ทารกในช่วงอายุ 9 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
“เนื่องจากวัคซีน MRR เป็นวัคซีนพื้นฐาน จึงมีการจองคิวรอซื้อนาน ประเทศไทยใช้เวลาจองกว่า 1 ปีในการซื้อ และแหล่งผลิตก็มีอย่างจำกัด ประเทศไทยมีการนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งทางบริษัทแจ้งมาล่าสุดว่าขาดแคลนของที่จะนำส่งให้ประเทศไทยชั่วคราว”นพ.ประทีป ให้เหตุผล
ทั้งนี้ โดยปรกติแล้วอภ.จะเป็นผู้จัดซื้อวัคซีน MRR โดยแต่ละปีมีความต้องการทั้งหมด 700,000 โด๊ส
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสถานการณ์ขาดแคลนชั่วคราว ทางคณะอนุกรรมการวัคซีน ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ จึงตัดสินใจสั่งวัคซีนจากบริษัทใหม่ ซึ่งจะสามารถนำเข้ามาประเทศไทยได้ในกลางเดือนพ.ย.นี้
“การแก้ไขปัญหาในระหว่างรอวัคซีนรอบใหม่ จึงต้องเลื่อนการให้วัคซีนแก่เด็กทารกที่อายุครบ 9 เดือนในเดือนก.ย.นี้ออกไป แต่ยืนยันว่าวัคซีนจะยังมีประสิทธิภาพในช่วงอายุการได้รับที่ 9-12 เดือน จึงไม่เกิดผลกระทบใดๆ
นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า กรณีวัคซีนขาดแคลนในครั้งนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีว่าประเทศไทยควรจะมีการสนับสนุนให้ผลิตวัคซีนได้ด้วยตัวเอง โดยวัคซีนรวมดังกล่าว ก่อนหน้านี้ประเทศไทยใช้วัคซีนค่อนข้างจำเพาะตามสายพันธุ์ และต้องเลือกให้เหมาะสมกับคนไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนจำเป็นต้องเลือกใช้วัคซีนในสายพันธุ์ที่ไม่จำเพาะเพื่อแก้ปัญหาเบื้องหน้าก่อน และเนื่องจากวัคซีน3 โรคนี้เป็นวัคซีนพื้นฐาน มีผู้ผลิตไม่กี่รายในโลก ส่งผลให้สินค้ามีจำนวนจำกัด จึงอาจเป็นไปได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทำสัญญาซื้อล่วงหน้าเป็นเวลานานถึง 2-3 ปี เมื่อถึงเวลาบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจึงต้องส่งมอบให้ตามสัญญา
“แตกต่างกับประเทศไทยที่มีข้อจำกัดเรื่องระเบียบราชการ ทำให้ซื้อได้เพียงปีต่อปีเท่านั้น นี่จึงอาจเป็นสาเหตุให้ประเทศไทยเข้าไม่ถึงวัคซีนเหล่านั้น”นพ.จรุง กล่าว
- 1 view