ไทยรัฐ - “มหันตภัยแร่ใยหิน” ยังเป็นประเด็นชวนให้ติดตามห้ามกะพริบตา คำถามมีว่า...อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่ปลอดแร่ใยหิน 100% เป็นเพราะเหตุใดกันแน่
หลังจากสังคมได้ตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายที่เกิดจากแร่ใยหินมาแล้วในระดับหนึ่ง และกลายเป็นเรื่องยืดเยื้อในการจะยกเลิกจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการขับเคลื่อนในการยกเลิกแร่ใยหินครั้งใหม่ ที่เปลี่ยนมิติจากการขับเคลื่อนให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554...
กลายมาเป็น “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแบบคู่ขนาน”
รณรงค์ให้ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐได้ตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายที่เกิดขึ้น พร้อมๆ ไปกับการจุดกระแสสังคม แต่ยังดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆเป็นแค่สายลมที่ผ่านเลยไป
บันทึกเตือนความจำ นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า แร่ใยหิน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์ โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ ก็ได้แก่ ไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสทอส
ซึ่งแร่ใยหินแต่ละชนิด ที่กลายเป็นข้อถกเถียงว่า มีอันตรายเท่ากันหรือไม่ ข้อมูลที่ตรงกันขององค์การอนามัยโลกได้ประกาศจุดยืนต่อแร่ใยหินร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ยืนยันชัดเจนด้วยบทพิสูจน์แล้วว่า... “แร่ใยหินทั้งหมดทุกประเภทรวมถึงแร่ใยหินขาว ที่มีการกล่าวอ้างถึง มีอันตรายเหมือนกันทั้งหมดคือเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งสำหรับผู้เข้าไปสัมผัส”
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไปดูให้ถ้วนถี่ โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทย ภายหลังมติ ครม.เมื่อปี 2554 ที่ยกเลิกแร่ใยหินประเภท “ครอซิโดไลท์” ไปแล้ว และยังมีการนำเข้าแร่ใยหินขาว แต่กลับยังมีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้าไปสัมผัส มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง
นี่คือประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป พร้อมกันนี้เมื่อบวกกับข้อมูลผู้ป่วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยิ่งต้องให้ความสนใจเกาะติดเรื่องนี้อย่ากะพริบตา
ข้อมูลจากโรงพยาบาลโรคทรวงอก ตรวจพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด 4 ราย และที่เป็นปอดอักเสบ 7 ราย ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งจากเยื่อหุ้มปอด เช็กตามประวัติ เป็นผู้สัมผัสกับแร่ใยหินชัดเจนแล้ว 1 ราย
นอกจากนี้ทางสำนักฯได้เข้าตรวจโรงงานต่างๆ พบว่ามีกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีกหลายราย ซึ่งได้ทำรายงานไปยังกรมโรงงานกระทรวงอุตสาหกรรมให้ทราบแล้ว
ข้อมูลสะท้อนความจริงว่า เมื่อประเทศไทยไม่นำเข้าแร่ใยหินแล้ว มีเพียงแร่ใยหินชนิดเดียวที่ถูกอ้างว่านำมาทดแทนแร่ใยหินชนิดอันตรายในอดีต แล้วผู้ป่วยที่...ป่วยจริง...เป็นมะเร็งจริง เป็นเพราะอะไรกันแน่
น่าสนใจอีกว่า...ตัวเลขผู้ป่วยและแนวโน้มผู้ป่วยที่เกิดจากการกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ตรวจพบเพิ่มจาก 4 เป็น 5 ราย ตัวเลขที่ว่านี้อาจจะไม่ได้บอกว่านี่คือจำนวนจริง ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วตัวเลขผู้ป่วยอาจจะมีมากกว่านี้ ซึ่งคงต้องเข้าใจในปัจจัยของการเกิดโรคจากแร่ใยหินที่เป็นต้นเหตุของหลายโรค ทั้งโรคปอดอักเสบ มะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ที่มีการฟักตัวนานราว 10-20 ปี
เมื่อเป็นเช่นนั้น ประวัติการสัมผัสหรือการทำงานของกลุ่มผู้ป่วยมักไม่เชื่อมต่อ เมื่อมีการย้ายการทำงาน หรือแม้แต่กลุ่มเสี่ยง ที่ว่างเว้นจากการสัมผัสแร่ใยหินเป็นเวลานานๆ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า... แร่ใยหินมีอันตรายและกำลังจะมีการยกระดับการวางระบบเกี่ยวกับการวินิจฉัยในเร็ววันนี้
ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ผู้แทนสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เสริมว่า แม้ว่าในประเทศไทยจะมีรายงานพบผู้ป่วยเพียง 4 รายในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าน่าจะมีผู้ป่วยถึง 500-1,000 ราย เพราะที่ผ่านมาไม่มีระบบในการติดตามผู้ป่วย อีกทั้ง การเกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจะต้องใช้เวลา 10-20 ปี ทำให้ขาดการบันทึกการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลที่พบในต่างประเทศ ยังบ่งบอกถึงสถานะการลุกลามของกลุ่มผู้ป่วย ที่เริ่มต้นจากแรงงานที่เข้าไปสัมผัส กำลังจะลามเข้าสู่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในครัวเรือน จากการต่อเติม รื้อถอนเคหสถาน
ประเด็นสำคัญที่ต้องรู้เอาไว้ขีดเส้นใต้เน้นตัวหนา...“แร่ใยหินไม่ได้มีอยู่เพียงในกระเบื้องมุงหลังคาเท่านั้น หากแต่ยังอยู่ในท่อน้ำประปา หลายครั้งพบว่า ผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินนั้น หลังจากใช้งานนาน 10 ปีจะเกิดการเสื่อมสภาพ สารจากแร่ใยหินจะหลุดลอกออกมาปนเปื้อนกับน้ำที่เราใช้บริโภค เช่นเดียวกับกระเบื้องมุงหลังคาที่มีอายุการใช้งานเพียง 5 ปี”
กล่าวกันว่า ข้อมูลจากสถิติที่พบในแต่ละปี...มีผู้ป่วยอย่างน้อย 90,000 คนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคปอด ที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหินจากการสัมผัสในงานโดยตรงและโดยอ้อม จากการฟุ้งกระจายในสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเทศไทย วันนี้นักวิชาการหลายคนยืนยันตรงกันว่า ผลจากกระบวนการการวินิจฉัยที่ยังไม่มีความชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐ อาจทำให้พบจำนวนผู้ป่วยอีกนับร้อยรายที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการวินิจฉัยที่มีมาตรฐานชัดเจน...
คาดการณ์กันว่า หากประเทศไทยยังไม่มีการเลิกใช้แร่ใยหินในอีก 25–30 ปี ข้างหน้าจะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 1,137 คนต่อปี
ที่ผ่านมา...สถิติตัวเลขผู้ป่วยทั้งที่ตรวจพบและแนวโน้มการเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการยกระดับการเคลื่อนไหวของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ, เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (ทีแบน) ที่จะยกระดับยุทธศาสตร์ จากการเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ที่ค้างเติ่งมานานกว่า 5 ปี...
เมื่อยังเป็นเหมือนสายลมที่พัดผ่านก็ปรับกลยุทธ์กันใหม่ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้...นำไปสู่การขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐ...เอกชน ตลอดจนการใช้กระบวนการทางกฎหมาย
นับรวมไปถึงการดึงหลักธรรมาภิบาลมาเป็นแรงต้าน ประสานไปยังองค์กรภาคเอกชนสำคัญๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสร้างแนวทางการยกเลิกแร่ใยหิน ที่ชัดเจนแล้วว่ามีผลก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ จะเน้นไปที่การขอความร่วมมือ และอาจมีการใช้อำนาจผ่านกระบวนการยุติธรรม ฟ้องร้องศาลปกครองให้มีการคุ้มครองชั่วคราว โดยการระงับโครงการการจัดซื้อจัดจ้างที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งถือเป็นการขัดมติ ครม.ปี 2554 โดยตรง
ข้อกังขาที่ทำให้เหมือนจะต้องถกเถียงกันไม่เลิกสำหรับ “มหันตภัย” ต้นเหตุแห่งการเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในมนุษย์ที่เข้าไปสัมผัส “แอสเบสทอต (Asbestos)” หรือ “แร่ใยหิน” ต้องย้ำว่าถึงวันนี้มีกว่า 50 ประเทศที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว และในกลุ่มประเทศอาเซียนก็มีมาตรการ “แบน” ร่วมกันกับสินค้าที่มีส่วนผสมของ “แร่ใยหิน”
“มหันตภัยแร่ใยหิน”... จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหันมาปฏิวัติ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากแร่ใยหิน 100%.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 6 views