พบเด็กดื่มนมแม่จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ดื่มนมกระป๋อง หรือ นมวัวถึง 8 แต้ม และช่วยเพิ่มไอคิวได้ถึง 3-5 จุด ในขณะที่องค์การอนามัยโลก และองค์การยูนิเซฟ "กดไลค์" ให้นมแม่เป็นสุดยอดอาหารสำหรับทารกในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ทว่าจากผลสำรวจแม่ชาวไทยกลับมีอัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำสุดในอาเซียน
สืบเนื่องจากรายงานข่าวผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทย พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาของเด็กไทยในระดับประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ค่อนไปทางต่ำ (98.59 จุด) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับระดับสติปัญญาเด็กในประเทศอาเซียน เด็กไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 8 ทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมต้อง "กุมขมับ" กลับมานั่งทบทวน วิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับเยาวชนของชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กมีไอคิวสูงขึ้นในปี 2556 อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมประกาศความมั่นใจว่า ภายในปี 2559 ไอคิวของเด็กไทยจะเข้าสู่มาตรฐานสากล คือ 100 จุด ให้ได้
พ.ญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในทางออกของปัญหาเด็กไทยไอคิวต่ำ ต้องกลับมาแก้ที่ภาวะโภชนาการของเด็ก ซึ่งผลสำรวจพบว่า ระยะเวลาการดื่มนมแม่ มีผลต่อระดับคะแนนไอคิวที่สูงขึ้น เด็กที่ดื่มนมแม่นานกว่า 6 เดือน มีระดับคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่ดื่มน้อยกว่า 3 เดือน และสูงกว่าเด็กที่ไม่ดื่มนมแม่เลยประมาณ 3 จุด ในทารกเกิดครบกำหนด สำหรับทารกที่เกิดก่อนกำหนดจะได้รับประโยชน์ที่สูงมากขึ้น ประมาณ 5 จุด และนั่นเป็นเพียงหนึ่งในผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นไปในทางเดียวกันว่า การให้นมแม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองของทารก เพราะสารอาหารต่างๆ ในนมแม่ คือ แหล่งรวมสารส่งเสริมการพัฒนาการของสมอง ภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน อนุมูลอิสระที่จำเป็นสำหรับทารก ช่วยป้องกันความเจ็บป่วยและทำให้ทารกเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ ส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็ก เสริมสร้างระดับสติปัญญา (ไอคิว) ในเด็กให้เพิ่มขึ้นได้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สังคมไทยต้องหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
งานวิจัยจาก Brown University เปิดเผยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เสริมสร้างการพัฒนาของสมองได้ 20-30% ซึ่งเด็กที่กินนมแม่ล้วนๆ จะมีการเติบโตของสมองมากกว่าเด็กที่กินนมแม่เสริมด้วยนมผง และเด็กที่กินนมผงอย่างเดียว นอกจากนี้ข้อมูลสนับสนุนจาก Oxford University, Cambridge University, The Institution for Social and Economic Research และ Essex University ต่างเปิดเผยถึงผลงานวิจัยที่สอดคล้องกันว่า เด็กที่ได้รับนมแม่ล้วนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านภาษาได้ถึงอายุ 3 ขวบ
ด้าน พ.ญ.กุสุมา ชูศิลป์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงงานวิจัยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเพิ่มระดับสติปัญญาของเด็ก 3-8 จุด เนื่องจากในนมแม่มีสารบำรุงสมอง และหากได้รับการกินนมแม่อย่างต่อเนื่องจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง
สมองลิมบิกที่ควบคุมการเรียนรู้ในช่วง 12 ปีแรก จะเปิดเมื่อทารกและเด็กมีความสุขขณะเรียนรู้ เพื่อให้เด็กจดจำสิ่งที่เรียนรู้โดยไม่ตั้งใจ และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเรียนรู้แบบใช้สมองเป็นฐาน การเริ่มต้นโอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อและให้ลูกดูดนมแม่ทันทีหลังเกิดช่วยกระตุ้นการเปิดหน้าต่างเรียนรู้ทองคำขาว ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการเจริญเติบโตของทารก
"งานวิจัยพบว่า สมองของทารกที่ได้รับนมแม่มีคลื่นสมองเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ที่กระตุ้นตลอดการบันทึกนาน 700 มิลลิวินาที โดยสมองตอบสนองและแยกเสียงพูดทั้งหมด และเกิดขึ้นทุกส่วนในสมองใหญ่ทั้ง 2 ซีก การรับส่งสัญญาณของสมองช่วยให้สมองทารกที่ได้รับนมแม่ได้เปรียบการพัฒนาภาษาและเชาว์ปัญญา" พ.ญ.กุสุมา กล่าว
ในขณะที่กลุ่มคุณแม่อาสาก็มีความชัดเจนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน อย่าง ปอ-ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์ พิธีกรรายการ 30 ยังแจ๋ว คุณแม่น้องแพรพัชร ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนถึง 1 ขวบเต็ม เปิดเผยว่า น้องแพรพัชรมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีมาก มีพัฒนาการการเติบโตสมวัย น้องสามารถคว่ำตัว พูด เดิน ได้ตามวัย ส่วนด้านร่างกายสุขภาพแข็งแรงมาก น้ำหนักและความสูงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลูกไม่เคยป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเลย แม้ว่าลูกจะมีอาการป่วยก็จะเป็นแค่วันเดียว พอวันรุ่งขึ้นอาการป่วยก็ดีขึ้น
"ปอมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน 100% และไม่ให้นมผสมเลย ช่วงที่ท้องปออธิษฐานขอให้น้ำนมของตัวเองมาเร็วๆ ลูกดูดนมเป็นและดูดนมเก่งๆ และพูดกับลูกในท้องว่าหนูต้องดื่มนมแม่นะ พอลูกคลอดออกมาได้ 4-5 วัน ปอถึงจะมีน้ำนม แต่โชคดีที่น้องแพรพัชรดูดนมเก่งจึงกระตุ้นการมาของน้ำนมให้ไหลดี ปอทำทุกวิถีทางที่จะให้น้ำนมมาเร็ว ด้วยการประคบเต้านมด้วยสมุนไพร กินแกงเลียงทุกวัน ตอนนี้ปอรู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองได้สำเร็จ" ปอ ปุณยวีร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีงานวิจัยและข้อมูลทางการแพทย์มากมายได้บ่งชี้ข้อดีของนมแม่วิเศษเพียงไร แต่ปรากฏว่า ครอบครัวไทยที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีไม่มากนัก มีเด็กเพียง 5.4 เปอร์เซ็นต์ หรือ ประมาณ 43,000 คน จากจำนวนเด็กแรกเกิดทั้งหมดประมาณ 800,000 คน ในแต่ละปีเท่านั้นที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งจากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟ ถือว่าเป็นอัตรา
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวที่ต่ำที่สุดในทวีปเอเชีย และยังเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอีกด้วย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวลดลงเหลือเพียง 1.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำที่สุดในประเทศ
กรณีนี้ พ.ญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยลดลง นอกจากสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการละเมิดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็ก (Code) โดยอิทธิพลของการโฆษณา ประชาสัมพันธ์นมผงผ่านสื่อต่างๆ ส่งผลให้แม่หลงเชื่อและหันไปใช้นมผงมากขึ้น อาทิ สื่อโฆษณาที่แสดงภาพเด็กที่แข็งแรง น่ารัก และใช้ชื่อภาษาอังกฤษบอกส่วนประกอบของนมผง เช่น DHA, AA และตอกย้ำสื่อวันละหลายสิบรอบ ทำให้แม่เข้าใจผิดคิดว่านมผงมีคุณค่าตามโฆษณาดังกล่าว
การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาดผลิตภัณฑ์นมผงได้สร้างมายาคติ ว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นให้มีการผลักดันให้ Code เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้จริง ซึ่งกรมอนามัย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กรมอนามัย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (CODE) ให้เป็นกฎหมายบังคับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือป้องปรามกลยุทธ์ทางการตลาดที่ขาดจริยธรรม ที่บั่นทอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย
- 201 views