Hfocus -เด็กน้อยไม่เดียงสาจำนวนมากไม่อาจคัดง้างกับชะตากรรมอันเหี้ยมเกรียมของตัวได้
เพียงเพราะติดตามครอบครัวหนีภัยสงคราม เพียงเพื่อหลับนอนเต็มตื่นอย่างปรกติสุข กระทั่งเพียงเพราะติดตามพ่อแม่ผู้เป็นแรงงานอพยพ เพียงเพื่อใช้แรงงานยังชีพประทังความหิวโหยให้รอดผ่านคืนวัน ... เพียงเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ
เด็กน้อยไม่เดียงสาไม่ว่าจะเชื้อชาติใด-สัญชาติใด เกาหลี จีน ปากีสถาน อินเดีย เวียดนาม ม้ง โรฮิงญา พม่า ลาว กัมพูชา ... มักถูกดำกฎหมายเล่นงานอย่างหนักหน่วง คดีความผิดฐานหลบหนีเข้าเมืองคือชะตากรรมเหี้ยมเกรียมที่ว่าไว้ข้างต้น
เด็กเหล่านั้น ถูกกักตัวอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ... บ้างเพื่อรอส่งกลับประเทศ บ้างยังไม่รู้อนาคต, คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจนเพียงอย่างเดียว กรณีนี้คุกมีไว้ขังคนต่างด้าวเช่นเดียวกัน
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและประจักษ์ต่อสายตาทุกคู่ คือเด็กต่างด้าวเหล่านั้นดำรงอยู่ในประเทศไทยมหาศาล ทว่าข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน กลับพบว่ามีเด็กน้อยที่ขึ้นทะเบียนไม่ถึง 1 หมื่นชีวิต
นั่นหมายความว่า ... ส่วนต่างที่หลงเหลือ มีโอกาสถูกจับกุมคุมขังแทบทั้งสิ้น
แม้ว่าประเทศไทยจะลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on Rights of the Child : CRC) ตั้งแต่ปี 2535 ทว่าปัจจุบันกลับยังพบปัญหาและข้อท้าทายต่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก
สาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ยึดหลักการพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ ไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ให้ความคุ้มครองเสรีภาพของเด็ก และคำนึงถึงความเห็นของเด็กหรือการให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการที่มีผลกระทบต่อตัวเด็กเอง
ทว่า จากรายงาน “การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อเดือน พ.ค. ปี2556 ให้ภาพการตั้งอยู่ของปัญหาชัดเจนยิ่ง
ผลพวงภายหลังเด็กถูกกักขัง แบ่งออกเป็น 10 ประเด็นใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1.เด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดา เนื่องด้วยระเบียบสถานกักตัวต่างด้าวมีการแยกเพศทำให้เด็กมีโอกาสอาศัยอยู่กับบิดาหรือมารดาทางใดทางหนึ่งเท่านั้น หรือเด็กถูกแยกจากบิดามารดาเนื่องจากต่างเพศกัน เด็กเหล่านั้นจึงมีโอกาสถูกล่วงละเมิดได้ง่าย
2.การทำทะเบียนประวัติของตม.ไม่ได้แบ่งแยกเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นเหตุให้เด็กถูกตีตราความผิดทั้งที่เพียงติดตามครอบครัวมา 3.เด็กต้องอยู่ในแวดล้อมที่แออัดและผิดหลักสุขอนามัย เช่น พื้นที่ซึ่งถูกสุมด้วยขยะจำนวนมาก อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีการทำความสะอาด 4.เด็กเจ็บป่วยด้วยโรคผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทุพโภชนาการ บางรายเครียด ซึมเศร้า
5.เด็กไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการศึกษา ในสถานกักขังไม่มีการจัดการเรียนรู้และพัฒนาทักษาของเด็ก 6.เด็กเหล่านี้ขาดการมีส่วนร่วมในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา และอาหารบางอย่างผู้นับถือบางศาสนาไม่สามารถรับประทานได้
7.เด็กต่างด้าวโดยเฉพาะสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา มักเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากไม่มีหน่วยงานหรือนายจ้างดูแล
8.เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง ไม่มีบุคลาการเพศหญิงอย่างเพียงพอ ผู้ต้องกักเพศหญิงสุ่มเสี่ยงถูกละเมิดได้ง่าย
9.เด็กที่ถูกผลักดันกลับประเทศน่าห่วงใยในกระบวนการส่งกลับและไม่มีหลักประกันว่าจะถึงปลายทาง
10.การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่มีมาตรฐาน บางครั้งการบังคับใช้กฎหมายไม่คำนึงถึงเด็ก บางรายถูกละเมิด ถูกทรมาน การลงโทษรุนแรงโหดร้ายเกิดกว่าเหตุ เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของเด็ก
พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์ นักวิจัยอิสระ ระบุว่า ปัญหาในรายละเอียดมีมาก เช่น มีเด็กหลายรายถูกเจ้าหน้าที่เรียกค่าไถ่จากครอบครัวในขั้นตอนการส่งกลับ หรือเจ้าหน้าที่ผลักดันออกไปให้พ้นๆ โดยไม่สนใจภูมิลำเนา กระทั่งในสถานกักขังมีการคุกคาม ข่มขู่ ตบทรัพย์ บางวันผู้นับถือศาสนาอิสลามไม่มีอาหารที่รับประทานได้ หรือแม้แต่เด็กหญิงที่โตถูกล่วงละเมิดจากเจ้าหน้าที่เพศชาย ที่สำคัญเด็กที่เข้ามาในสถานกักขังไม่ได้ถูกคัดแยกตามกระบวนการ เด็กบางรายเข้ามาในประเทศเพราะตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
“จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษที่จำเพาะเพื่อดูแลเด็ก ต้องแยกการดูแลออกจากผู้ใหญ่” นักวิจัยรายนี้ สรุปชัด และบอกว่า มีเด็กหลายรายที่เกิดในประเทศไทย แต่อาจพลัดพรากจากพ่อแม่หรือพ่อแม่เสียชีวิตหมด ทำให้ไม่มีญาติและไม่มีเอกสารยืนยันสถานะตัวเอง ทำให้เด็กถูกนำไปแสวงหาประโยชน์
สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) แบ่งเด็กต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.เกิดในประเทศไทย 2.ติดตามมากับพ่อแม่ตั้งแต่แรก 3.ติดตามมาในภายหลัง 4.พลัดพรากจากครอบครัวตั้งแต่ประเทศต้นทาง 5.พ่อแม่ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและเสียชีวิต
สมพงษ์ ระบุว่า เด็กเหล่านี้มีความเปราะบางอยู่แล้วโดยสถานะ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ และเด็กเหล่านี้ไม่สามารถดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน มีการประมาณการว่ามีเด็กต่างด้าวในประเทศไทย 2 หมื่นราย ทว่าอยู่ภายในการคุ้มครองของหน่วยงานรัฐและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมไม่ถึง 2,000 ราย ส่วนเด็กที่เหลือมักถูกกระทำ ถูกคุกคาม ถูกลิดรอน และตกเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่และคนชาติเดียวกัน
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ อธิบายว่า หลักการสากลทั่วทั้งโลกมองว่าเด็กอายุน้อยมากถือว่าเด็กไม่มีการกระทำ เด็กโตขึ้นมาพอรู้เรื่องถือว่าเด็กกระทำได้แต่ไม่มีความผิด กรณีเด็กโตแล้วถือเด็กกระทำความผิดแต่ต้องมีโทษน้อย
หลักการคือไม่มุ่งลงโทษเด็กแต่ยึดหลักเด็กสามารถพัฒนาได้
สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า เด็กที่ถูกดำเนินการฐานลักลอบเข้าเมืองเป็นกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นอาชญากรที่ทำอาชญากรรม มีการเอาข้อมูลเหล่านี้เข้าไปในทะเบียนอาชญากรรมกลายเป็นตาบาปของเด็กตลอดชีวิต นอกจากนี้เด็กที่ถูกนำไปกักขังในตม.ตามสถานะของเด็กแล้วถือว่ายังไม่มีความผิด แต่ข้อเท็จจริงการกักขังของตม.ก็คือคุก มีการจำกัดสิทธิทุกอย่าง ดังนั้นรัฐบาลต้องมีการปรับปรุง
“กระบวนการต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ส่งเสริมเด็ก ไม่ใช่การลงโทษอย่างทุกวันนี้” นักกฎหมายรายนี้ ระบุ
สุรพงษ์ บอกว่า นอกเหนือปัญหาทั้ง 10 ประเด็นที่ตม.ต้องเร่งแก้ไขแล้ว ยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลคือควรมีหน่วยงานกลไกป้องกันระดับชาติ (National Preventive Mechanism) ตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีในการตรวจเยี่ยมและรายสถานการณ์ในที่ต้องกักอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อผู้ที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ
- 114 views