เอฟทีเอ ว็อทช์ แฉ กรมเจรจาฯเร่งจัดรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบเจรจา TPP ตัดภาคประชาสังคม
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์) เปิดเผยว่า บ่ายวันที่ 26 กันยายน ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทาง เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans-Pacific Partnership: TPP) แต่ปรากฎว่า เชิญเพียงหน่วยราชการและภาคเอกชนเท่านั้น แต่ไม่เชิญภาควิชาการและภาคประชาสังคมเลย ทางเอฟทีเอ ว็อทช์จึงได้ถามกรมเจรจาฯ ผ่านแฟนเพจของกลุ่ม https://www.facebook.com/ftawatch เนื่องจากตามมาตรา 190 วรรค 3 การให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น มิได้ระบุให้เลือกปฏิบัติได้
"ขอถามกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผ่านสาธารณชน
1.เหตุใดการจัดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทาง เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans-Pacific Partnership: TPP) ณ กรมเจรจาฯ บ่ายวันนี้ จึงทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการแต่หน่วยราชการ และ ภาคเอกชน
2.เหตุใดจึงไม่เชิญภาคประชาสังคม ทั้ง นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชนต่างๆ ที่ติดตามเรื่องนี้
3.เหตุใดเมื่อถามไปยังนายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบูรณาการเศรษฐกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จึงยืนยันว่าเป็นการหารือเฉพาะหน่วยราชการเท่านั้น แต่ในที่ประชุมกลับมีตัวแทนภาคธุรกิจ อาทิ สมาคมยาข้ามชาติ สภาหอการค้า ซึ่งได้รับหนังสือเชิญ
4.ตามมาตรา 190 วรรค 3 การให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น มิได้ระบุให้เลือกปฏิบัติได้
ขอคำชี้แจงผ่านสาธารณะด้วย"
ทั้งนี้ ในเพจดังกล่าวยังนำเสนอเหตุผล 9 ข้อว่าทำไมต้องตรวจสอบการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง TPP ดังนี้
1.TPP เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีรูปแบบใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยาเพียงไม่กี่บริษัท และขยายการผูกขาดตลาดให้ยาวนานเกินกว่า 20 ปี ซึ่งจะมีผลทำให้ยามีราคาแพงขึ้นอย่างมหาศาล
2.TPP จะผูกมัดไม่ประเทศคู่ค้าสามารถต่อรองราคายาได้ และไม่ยอมให้มีกลไกควบคุมราคายาและการใช้ยาอย่างเหมาะสมที่จะกระทบผลกำไรของ บรรษัทยาข้ามชาติ
3.TPP จะทำให้ประเทศคู่เจรจาไม่สามารถนำมาตรการยืดหยุ่นด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ซีแอล มาใช้เพื่อปกป้องหรือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นในราคาที่เหมาะสมของ ประเทศได้
4.TPP จะทำให้บรรษัทข้ามชาติสามารถแทรกแซงหรือยับยั้งนโยบายหรือการออกกฎหมายภายใน ประเทศที่คุ้มครองสุขภาพประชาชนจากสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร
5.TPP เป็นการริบรอนอธิปไตยทางศาลของประเทศคู่ค้า เพราะบรรษัทข้ามชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือให้มีการยกเลิกนโยบาย หรือกฎหมายที่ทำให้ผลกำไรของบรรษัทฯ เสียหาย ถึงแม้ว่านโยบายหรือกฎหมายเหล่านั้นจะมีเพื่อคุ้มครองสุขภาพและชีวิตความ เป็นอยู่ของประชาชนก็ตาม ซึ่งจะตัดสินโดย “คณะอนุญาโตตุลาการ” ภายนอกประเทศ
6.TPP เป็นข้อตกลงการค้าที่บ่อนทำลายความมั่นคงทางการเงิน เพราะจะจำกัดสิทธิของประเทศในการใช้มาตรการและนโยบายควบคุมการเคลื่อนย้าย เงินทุน เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการคลังและทางเศรษฐกิจของประเทศ
7.TPP จะทำให้ต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสูงขึ้น เพราะมีการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และอนุญาติให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์ สัตว์ได้ ซี่งทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์สัตว์ของบรรษัทยักษ์ใหญ่ และไม่สามารถใช้ขยายพันธุ์ต่อได้
8.TPP จะจำกัดสิทธิ์ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างเสรีอีกต่อไป
9.TPP เป็นการเจรจาที่ไม่โปร่งใส เพราะกำหนดให้การเจรจาจะต้องกระทำอย่างเป็นความลับ ไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาการเจรจาให้ภายนอกได้รับรู้ก่อนการเจรจาจะเสร็จสิ้น หรือมีการตกลงกัน
หมายเหตุ TPP คือ ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) ที่มีประเทศสหรัฐฯ เป็นแกนนำผลักดันการเจรจา หรืออีกนัยหนึ่ง ทีพีพี คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement, FTA) หรือ เอฟทีเอ ที่สหรัฐฯ เคยพยายามกดดันให้ไทยเจรจาและเซ็นข้อตกลงด้วยแต่ไม่สำเร็จ
- 1 view