ท่าอากาศยานเชียงใหม่ นำร่องติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) เครื่องแรกในภาคเหนือ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตกรณีบาดเจ็บ-ป่วยฉุกเฉิน เชื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว สพฉ. หนุนกระจายติดในพื้นที่สาธารณนะ ย้ำเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน
วันที่ 26 กันยายน ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และบริษัท เซนต์ เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด มอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ให้กับท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อติดตั้งในบริเวณท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเครื่องแรกของภาคเหนือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว กรณีหากเกิดเหตุบาดเจ็บหรือป่วยฉุกเฉิน
ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) กล่าวว่า การบาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ดังนั้นการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพอย่างเร่งด่วน ดังนั้นการติดเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) จึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นได้มีการสาธิตวิธีการใช้งานพร้อมแนะนำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพเบื้องต้นให้กับประชาชนในบริเวณท่าอากาศยานด้วย
“การติดเครื่องกระตุกไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติที่สนามบินถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากสนามบินถือเป็นประตูเมืองที่มีผู้คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการนำร่องให้กับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบันในต่างประเทศอนุญาตให้ใช้รวมถึงมีติดไว้ในที่สาธารณะอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่หยุดหายใจกะทันหันหรือมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดจังหวะนั้นมีขั้นตอนดังนี้ คือ เรียกคนช่วยอย่างรวดเร็ว และรีบแจ้งสายด่วน 1669 จากนั้นในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่กู้ชีพเข้าให้การช่วยเหลือให้เริ่มปฏิบัติการช่วยชีวิตในทันที โดยการทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และเมื่อมีข้อบ่งชี้ให้ทำการช่วยเหลือด้วยกระแสไฟฟ้าให้รีบทำโดยเร็ว ภายใน 3-5นาที” กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าว
ด้าน นาวาอากาศโทหลักชัย เฉลยปราชญ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า การติดเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ถือว่ามีความจำเป็นและจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และที่สำคัญถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว เพราะเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยที่ท่าอากาศเชียงใหม่จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาใช้บริการกว่า 8 ล้านรายต่อปี และมีสถิติปริมาณอากาศยานพาณิชย์ขึ้นลง กว่า 37,000 เที่ยวบิน
สำหรับเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติเป็นเครื่องมือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบอิเล็กทรอนิกส์พกพา ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งานของเครื่อง AED ก็จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องได้ โดยการรักษานั้นระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจะออกคำสั่งให้เราเป็นผู้ปฏิบัติตามได้
- 34 views