บางกอกทูเดย์ - เมื่อเร็วๆนี้มีตัวอย่างการตัดสินทางด้านกฎหมายที่น่าสนใจ เมื่อศาลปกครองออกคำวินิจฉัยระงับคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการบังคับใช้กฎระเบียบเพิ่มขนาดภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่จากเดิมร้อยละ 55 มาเป็นร้อยละ 85

โดยได้เพ่งความสนใจอีกระลอกไปยังรัฐมนตรีผู้ซึ่งสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมาตลอด

จุดสำคัญที่ต้องพิจารณา ไม่ใช่เรื่องขนาดของคำเตือนแต่ประเด็นหลักคือในการวินิจฉัยเพื่อระงับการบังคับใช้กฎระเบียบภาพคำเตือนชั่วคราวนี้ ศาลปกครองได้ตั้งคำถามว่า

รัฐมนตรีสาธารณสุขได้กระทำเกินขอบเขตอำนาจทางกฎหมายของตนหรือไม่?

รวมทั้งละเลยที่จะรับฟังความเห็นของประชาชนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้เป็นจำนวนหลายหมื่นหลายแสนราย ซึ่งการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องอีกต่างหาก คือจุดสำคัญที่คนระดับผู้บริหารประเทศต้องตระหนักและให้ความสำคัญให้มาก

เมื่อมีการนำเสนอกฎหมายนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่า จะไม่มีการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะได้รับผลกระทบ เพราะว่าจะไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ และอ้างถึงสนธิสัญญาต่อต้านยาสูบนานาชาติ ที่เรียกว่ากรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบโลกว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถปรึกษาหารือกับฝ่ายใดได้ ยกเว้นการพูดคุยกับนักล็อบบี้ยิสต์ด้านสุขภาพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยกันเอง

แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ สิ่งนี้คือพฤติกรรมซ้ำซากของสธ.และรัฐมนตรีที่ชื่อน.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่ไม่เคยรับฟังความ

คิดเห็นของผู้ใดทั้งสิ้น ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะไม่รับฟังผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ก็ยังเพิกเฉยต่อคำแนะนำของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆเช่น เพิกเฉยไม่สนใจต่อความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ที่แสดงการคัดค้านมาตรการซองบรรจุภัณฑ์ยาสูบดังกล่าว

ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดเพราะเมื่อไม่นานมานี้เองน.พ.ประดิษฐก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับสมาคมแพทย์ชนบทเรื่องปัญหาการเบิกจ่ายค่าตอบแทนซึ่งรัฐมนตรีประดิษฐก็มีท่าทีเดียวกัน

คือดึงดันไม่สนใจรับฟังสมาคมแพทย์ชนบทแต่อย่างใด ปัญหาเรื่องP4P จึงกลายเป็นประเด็นยืดเยื้อได้สร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลอย่างมาก

เมื่อกลุ่มรากหญ้าอย่างชาวไร่ยาสูบอีกกลุ่มหนึ่งได้รับทราบเกี่ยวกับนโยบายด้านฉลากผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ของรัฐมนตรีประดิษฐ ก็ได้ร่วมกันออกมาติติงว่า ไม่มีการปรึกษาหรือรับฟังความเห็นกับกลุ่มอุตสาหกรรมแต่อย่างใด นายสมนึก ยิ้มปิ่น ผู้อำนวยการสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จ.สุโขทัยกล่าวว่าพวกตนรับไม่ได้ที่รัฐบาลไม่เปิดโอกาสเพื่อปรึกษาหารือหรือพูดคุยใดๆ และกล่าวว่ารัฐบาลจะต้องแสวงหาข้อมูลจากกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจริงๆ จากการตัดสินใจเหล่านี้ ไม่ใช่เพิกเฉยพวกตนแบบนี้

ความทะนงตนเช่นนี้มีต้นตอมาจากที่ใด?!?เป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไปว่าน.พ.ประดิษฐเป็นผู้ที่คลุกวงในและเป็นโควตาโดยตรงของนายกฯ หญิง แม้จะมีการคัดค้านไม่เห็นด้วยจากพี่ชายก็ตาม นายแพทย์ประดิษฐไม่ใช่ส.ส. แต่ได้ตำแหน่งมาจากการ

แต่งตั้ง ไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และการกระทำของหมอประดิษฐก็บ่งบอกได้ว่าหมอประดิษฐไม่ได้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเท่าไหร่อันที่จริง ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนต่างออกอาการหงุดหงิดไปตามๆ กัน แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยบอกว่าหมอประดิษฐไม่เคยเหยียบเท้าไปที่สำนักงานใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่ทำมีเพียงแต่การเหยียบย่ำสร้างปัญหาให้กับฐานเสียงของพรรคในชนบททั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน อย่างชาวไร่ยาสูบและกลุ่มร้านค้าปลีก

สิ่งที่คงจะทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยเบื่อหน่ายมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการหลบหลังองค์การอนามัยโลกโดยอ้างว่าไม่สามารถคุยกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่ประการอย่างใด โดยรมว.สธ.อ้างว่ากรอบอนุสัญญาฯ ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐติดต่อพูดคุยกับอุตสาหกรรมยาสูบ

ข้อเท็จจริงก็คือ กรอบอนุสัญญาฯ เพียงแค่กำหนดว่า "ในการจัดตั้งและบังคับใช้นโยบายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของสาธารณชนในการควบคุมยาสูบ ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการเพื่อปกป้องนโยบายเหล่านั้นจากกลุ่มการค้าหรือกลุ่มอื่นๆที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมในอุตสาหกรรมยาสูบได้ โดยให้สอดคล้องตามข้อกำหนดในกฎหมายของประเทศสมาชิก" สิ่งที่หมอประดิษฐกล่าวอ้างกับคนในพรรคจึงเหมือนดูถูกสติปัญญาส.ส.ท่านอื่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในประเทศ มาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดไว้ว่าประชาชนชาวไทยมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาและมีสิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลหรือคำอธิบายจากหน่วยงานรัฐในระหว่างกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆ

นอกจากนี้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดียังได้กล่าวถึงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายหนึ่งๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านประสบการณ์ที่เกิดจากการไม่ฟังใครกับกลุ่มแพทย์ชนบทและศาลปกครองมาแล้ว น.พ.ประดิษฐ กำลังพยายามให้สำนักนายกรัฐมนตรี ออกกฎระเบียบ ห้ามไม่ให้มีเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆติดต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ประกอบการยาสูบ

โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

นอกจากนี้ น.พ.ประดิษฐยังมีความพยายามที่จะให้นิยามคำว่า "ผู้ประกอบการยาสูบ" ให้ครอบคลุมถึงผู้ผลิต ผู้ค้า ร้านค้าปลีก ผู้นำเข้า ชาวไร่ยาสูบ สมาคมการค้าและบริษัทโฆษณาต่างๆ

ซึ่งถ้านับเป็นจำนวนฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้ เชื่อได้เลยว่าต้องถึงหลักล้านแน่ๆ!!!

ตั้งป้อมสร้างศัตรูให้กับพรรคเพื่อไทยขนาดนี้แล้วประชาธิปัตย์คงจะต้องรักและขอบคุณในความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีประดิษฐเป็นอย่างมาก

แล้วท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะต้องรู้สึกอึดอัดใจ ที่นักล็อบบี้ยิสต์และหน่วยงานต่างชาติจะมาสั่งพวกเขาไม่ให้มีการพูดคุยกับอุตสาหกรรมยาสูบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม สิ่งนี้คงไม่ใช่วิธีการดูแลหรือให้การสนับสนุนผู้ที่เป็นฐานเสียงของตัวเองที่ดีเท่าไรนัก

ดังนั้นก็คงต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยที่จะหันมาเริ่มเช็คแถวรัฐมนตรีประดิษฐและอธิบายให้คนผู้นี้เข้าใจว่า

พรรคจะต้องให้ความสำคัญต่อฐานเสียงมากกว่านักล็อบบี้ยิสต์และหน่วยงานต่างชาติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 26 - 27 ก.ย. 2556--