คมชัดลึก - "สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทั้งการสู้รบตามแนวชายแดน การก่อการร้าย ทำให้ประชาชน ทหารผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้รับ บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อาจได้รับอันตรายขณะปฏิบัติหน้าที่"
นี่เป็นวัตถุประสงค์หลักที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก ฝึกภาคปฏิบัติในสถานการณ์เสมือนจริง ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ความรุนแรง โดยคัดเลือกบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุปะทะ เช่น จ.สุรินทร์ ให้มาเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานช่วยชีวิตฉุกเฉินในรูปแบบยุทธวิธี
ครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 จัดฝึกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จ.ยะลา และ สุรินทร์ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 31 คน ได้แก่ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ หลังจากรุ่นแรกฝึกที่ จ.ปัตตานี นราธิวาส และศรีสะเกษพล.ท.ศ.คลินิก ภานุวิชญ์ พุ่มหิรัญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก กล่าวว่า โครงการนี้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และสามารถจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นการประเมินสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ การปฐมพยาบาลและส่งต่อหรือส่งกลับ การนำบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน มาเรียนรู้เทคนิคช่วยชีวิตแบบทางทหารนั้น ก็เพื่อต้องการให้ทีม เรียนรู้บาดแผลจากอาวุธและระเบิด การเก็บวัตถุพยานตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ การคัดแยกผู้บาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุ
ตัวอย่างเช่น หากมีเจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับบาดเจ็บ จะมีป้ายคัดแยกที่บ่งบอกอาการ "สีแดง" คือ ผู้บาดเจ็บมาก ต้องรีบนำออกจากพื้นที่ก่อน เพื่อส่งต่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมส่งตัวรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ เมื่อผ่านการฝึกเป็นที่เรียบร้อย บุคลากรทั้งหมดสามารถนำความรู้ไปประยุกต์และถ่ายทอดให้แก่หน่วยงานกู้ชีพอื่นๆ ในพื้นที่ได้
ด้านนพ.ภุมรินทร์ แซ่ลิ่ม หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวช โรงพยาบาลยะลา ระบุว่า เวลาเผชิญเหตุ การแพทย์ฉุกเฉินก็นำรูปแบบมาจากทางการทหารแล้วนำไปประยุกต์ใช้กับสาธารณสุข การปฏิบัติหน้าที่ เดิมไม่มีองค์ความรู้ที่จะเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ พอได้เข้าร่วมฝึกอบรมทำให้รู้มากขึ้น ว่าจะต้องทำอย่างไรให้บุคลากรแพทย์ฉุกเฉินได้รับความปลอดภัย
ขณะที่ นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.สุรินทร์ กล่าวว่า จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ชายแดนไทยกัมพูชา ตามแนวชายแดนมักมีเหตุปะทะกัน การฝึกอบรมไม่ได้เรียนรู้เรื่องบาดแผลและอาวุธเท่านั้น แต่รวมถึงการควบคุมสถานการณ์และปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เช่นเดียวกับ นายสฤษดิ์พันธ์ แซ่จัง เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินระดับต้นประจำศูนย์กู้ภัยแม่กอเหนี่ยวยะลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีแบบแผนในการปฏิบัติงาน ได้เข้าร่วมอบรมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยประเมินสถานการณ์นำผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 26 กันยายน 2556
- 17 views