กรุงเทพธุรกิจ - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตเซรุ่มต้านพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินั่ม ชนิดเอและบี เพื่อรักษาผู้ป่วยจากโรคโบทูลิซึ่ม (Botulism) ได้ทันเวลา เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดที่ผลิตโบทูลินั่ม แอนติท็อกซิน เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ทันท่วงที
จากความร่วมมือนี้ ล่าสุดได้ผลผลิตเซรุ่มต้านพิษชนิด A 80 ลิตร และเป็นผลผลิตที่ได้ระดับภูมิคุ้มกันที่ 1000 IU/ml ซึ่งเตรียมที่จะทำให้บริสุทธิ์และทำการทดสอบเพิ่มในสัตว์ทดลอง อีกทั้งได้ผลผลิตชนิด B ระดับหนึ่ง อนาคตแผนการดำเนินงานโครงการวิจัยต่อเนื่องอีก 5 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้-ก.ย.2561 คาดว่าผลความสำเร็จจะทำให้ได้ Bivalent botulinum antitoxin A, B เพื่อใช้รองรับการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคโบทูลิซึ่มได้ทันเวลาและเป็นการพึ่งพาตนเองในระยะยาว
ทั้งนี้ จากปี 2541-2555 ประเทศไทยมีการเกิดโรคโบทูลิซึ่มในเขตภาคเหนือหลายครั้ง ได้แก่ ปี 2541 เกิดที่ จ.น่าน มีผู้ป่วย 13 คน ตาย 2 คน ปี 2546 เกิดที่ จ.ลำปาง มีผู้ป่วย 10 คน ตาย 1 คน และ 2549 เกิดที่ จ.น่าน มีผู้ป่วย 163 คน ในกรณีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานกับองค์การอนามัยโลกด้วยความรวดเร็ว ทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ส่งแอนติท็อกซิน (antitoxin) มารักษาผู้ป่วยได้ทันเวลา ทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ทุกครั้งที่เกิดโรคพบว่า มีสาเหตุมาจากการรับประทานหน่อไม้ปี๊บ โดยไม่ได้นำมาต้มก่อนและผู้ป่วยมีอาการของโรคโบทูลิซึ่มชัดเจน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กันยายน 2556
- 41 views