ครม.เห็นชอบดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวทุกประเภท ได้สิทธิเทียบเท่าประกันสังคม เด็ก 365 บาท ผู้ใหญ่สูงสุด 2,800 บาท คุ้มครอง 1 ปี หวังควบคุมป้องกันโรคครบวงจร
เมื่อวันที่ 19 กันยายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 20-21 กันยายน จะนำคณะผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการ และสื่อมวลชน เดินทางไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือสาธารณสุขไทย-พม่า ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งเป็นระดับข้าราชการประจำระดับสูง เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าเป็นปีแรก ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มความเข้มแข็งระบบการควบคุมป้องกันโรคทั้ง 2 ประเทศในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. กล่าวว่า บัตรประกันสุขภาพ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและรอเข้าสู่ระบบการประกันสังคม กำหนดซื้อในอัตราคนละ 1,150 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 550 บาท มีอายุคุ้มครอง 90 วัน หลังจากนั้นก็จะอยู่ในความดูแลของระบบประกันสังคม 2.กลุ่มคนต่างด้าวทั่วไปที่ใช้แรงงานและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น รับจ้างทำงานภาคเกษตร ประมง ก่อสร้าง หรือติดตามครอบครัว อัตราคนละ 2,800 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี และ 3.กลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ อัตราคนละ 365 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี นับจากวันที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ
นพ.ชาญวิทย์กล่าวว่า สธ.ได้กำหนดควบคุมโรคในต่างด้าวรวม 5 โรค ได้แก่ วัณโรค โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคซิฟิลิส และโรคพยาธิในลำไส้ จะให้ต่างด้าวทุกคนกินยาฆ่าเชื้อพยาธิเท้าช้าง และยาฆ่าพยาธิในลำไส้ เพื่อควบคุมโรคในวันที่ตรวจสุขภาพ และหากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อก็จะติดตามให้ยารักษาจนหายขาด และจะให้ใบรับรองแพทย์เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการอนุญาตทำงาน มีอายุ 60 วัน สำหรับสิทธิประโยชน์ในการประกันสุขภาพ ในกลุ่มของผู้ใหญ่จะได้รับการดูแลด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การบริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพ คลอดบุตร ป่วยฉุกเฉิน ยาต้านไวรัสเอดส์ การรักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ผ่าตัดสมอง เป็นต้น บริการทำฟัน เช่น ถอนฟัน ขูดหินปูน ส่วนสิทธิประโยชน์ในกลุ่มของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี บริบูรณ์ จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น ฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐาน บริการทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง บริการยาต้านไวรัสเอดส์ ในกรณีที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ ทั้งแม่และเด็กจะมีบัตรสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อติดตามสุขภาพอนามัย พัฒนาการ จนเด็กอายุ 5 ขวบ
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 20 ก.ย. 2556
- 3 views