ย่างเข้าสู่วันที่ 3 ของการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบ 2 โดยช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.ย. เครือข่ายภาคประชาชนจะเข้าหารือกับทีมเจรจาฝ่ายไทย เพื่อเรียกร้องให้แสดงจุดยืนไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินกว่าข้อตกลงในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ภาคประชาชนวิตกกังวลมี 2 เรื่องใหญ่คือ
1.เรื่องยาอียูเรียกร้องให้ไทยยอมรับตามนี้ 1.การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี 2.การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูลที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อๆไป อย่างน้อย 5 ปี 3.การจับ ยึดอายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่า อาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆณ จุดผ่านแดน ซึ่งมีการประเมินว่าหากไทยยอมรับ จะทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาสูงขึ้นปีละ 1-2 แสนล้านบาท
2.ความหลากหลายทางชีวภาพ อียูเรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจาต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ. 1991 และเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งหากไทยยอมรับข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้มีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืช จากเดิม 15 ปีเป็น 20 ปีสำหรับพืชทั่วไป และเป็น 25 ปีสำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น ข้อเรียกร้องนี้จะทำให้เกิดการกีดกันทางพันธุ์พืชรวมถึงนักปรับปรุงพันธุ์จะมีสิทธิห้ามการส่งออก นำเข้า และมีการประเมินว่าเกษตรกรจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์สูงขึ้นอีก 2-6 เท่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 กันยายน 2556
- 3 views