หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ - สธ.ระบุโรคมือ เท้า ปาก เป็นอีกโรคที่น่าห่วงรองจากไข้เลือดออก ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ทั่วประเทศมีผู้ป่วยสะสมรวม 31,185 ราย รมว.สั่งการต้องเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด มีการให้สุขศึกษาและความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมโรคแก่ ครู ผู้ปกครอง ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง หากศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลพบเด็กป่วยต้องหยุดเรียนทันที ทำความสะอาดศูนย์ฯ ของเล่นและของ ใช้ต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปากในประเทศไทยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 ก.ย. 56 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากสะสมรวม 31,185 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 49.09 ต่อแสนประชากร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วพบผู้ป่วยใกล้เคียงกัน(32,306 ราย)โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ขวบ พบร้อยละ 30 รองลงมาคืออายุ 2 ขวบ พบร้อยละ 25 และ 3 ขวบ พบร้อยละ 17 ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสานตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ เชียงราย ระยอง พะเยา พัทลุง และน่าน ส่วนการเสียชีวิตพบ 1 รายที่จังหวัดเชียงใหม่
"โรคมือ เท้า ปาก" นับเป็นอีกโรคหนึ่งที่น่าเป็นห่วงรองจากไข้เลือดออก เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศที่ทั้งเย็นและชื้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โรคเกิดการระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักพบการระบาดของโรคนี้ในโรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็ก กลุ่มเสี่ยงของโรคส่วนมากเป็นเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เมื่อเจ็บป่วยก็จะติดต่อสู่กันได้ง่าย ในรายที่รุนแรงมักพบในเด็กเล็กมาก ๆ เช่นอายุ 1 ปี หรือน้อยกว่าจนถึง 3 ปี และอาจทำให้เสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อนที่สมอง หัวใจ
"ทั้งนี้เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรค การลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็ก สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด ต้องมีการให้สุขศึกษาและความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมโรคแก่ครู ผู้ปกครอง ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่ดูแลเด็ก หากพบเด็กป่วย ต้องหยุดเรียนทันที ทำความสะอาดศูนย์ฯ ของเล่นและของใช้ต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค"
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เนื่องจากศูนย์เด็กเล็กเป็นสถานที่ที่มีเด็ก ๆอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก การที่เด็กคนหนึ่งสัมผัสของเล่นหรือสิ่งของอื่น ๆ ที่เปื้อนน้ำลายหรือน้ำมูกของเด็กที่ป่วย แล้วใช้มือซึ่งสัมผัสเชื้อเหล่านั้นมาหยิบขนมหรืออาหารเข้าปาก ก็จะเกิดการติดเชื้อและทำให้ป่วยได้
โดยกลุ่มอาการป่วยของโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยคือมีไข้นำมาก่อน จากนั้นอีก 1-2 วันต่อมาจะมีแผลในปาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายแผลร้อนในแต่มักมีหลายแผล ส่วนใหญ่พบที่บริเวณคอหอย หรือใกล้ต่อมทอนซิล หากเป็นมากจะลามมาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหลร่วมกับพบตุ่มเล็ก ๆ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าซึ่งจะหายได้เอง และในเด็กบางรายอาจมีเพียงแผลที่มือ เท้า และปากโดยไม่มีไข้
"ในการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปากนั้น นอกจากการรณรงค์ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ แล้วทางกรมควบคุมโรคยังได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก และการป้องกันโรค แก่ประชาชน ครู นักเรียน ผู้ดูแลเด็ก และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มีการเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการสถานรับเลี้ยงเด็ก ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ รวมทั้งการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องและล้างมือบ่อย ๆ ทำความสะอาดพื้นในบ้าน สถานศึกษา และสถานที่สาธารณะ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและป้องกันเด็กที่ป่วยหากได้สัมผัสกับสถานที่เหล่านั้น"
การระบาดที่พบผู้ป่วยมาก ๆ พร้อมกันหลายคนมักเกิดที่ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล จึงมีมาตรการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศให้เป็นศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ ปลอดโรค โดยจัดให้มีระบบการเฝ้าระวังโรคอาการเด็กทุกวัน การแยกเด็กป่วย การทำ ความสะอาดอุปกรณ์การเรียน การเล่น ของใช้ประจำตัวของเด็กและสถานที่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วกว่า 18,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่าสามารถลดการป่วยของโรคติดต่อในเด็กของศูนย์เด็กเล็กได้ดี และจะขยายไปสู่โรงเรียนอนุบาลอีก 30,000 แห่งทั่วประเทศต่อไป
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเสริมว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้า ปาก เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้หลายชนิดเรียกว่ากลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่พบอยู่ คือไวรัสคอคแซกกี เอ หรือบี และไวรัสเอนเทอโร 71 ซึ่งเป็นเชื้อที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง และสามารถทำให้เกิดอาการของโรคได้หลายลักษณะ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แต่มีบางส่วนที่เกิด อาการรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
"สำหรับข้อปฏิบัติเมื่อพบว่ามีเด็กป่วยโรค มือ เท้า ปาก ต้องแยกออกจากเด็กปกติทันที รวมถึงแยกของใช้เด็กที่ป่วย ไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ส้อม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ และแปรงสีฟัน ที่สำคัญควรให้เด็กหยุดเรียนเป็นเวลา 7 วันนับจากวันเริ่มมีอาการ (ถึงแม้ว่าเด็กอาจมีอาการดีขึ้นก่อนครบ 7 วัน) หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น คือ ไข้สูง อาเจียน หอบเหนื่อย ซึม ชัก หรืออาการแย่ลง ต้องรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และหากพบว่ามีการระบาดของโรคเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กไปสถานที่แออัดหรือที่ที่มีคนจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า ตลาด และสระว่ายน้ำฯลฯ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุข โทร. 1422"
ส่วน นพ.วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่บอกว่าโรค มือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่สำคัญและพบบ่อยในเด็กปฐมวัยเนื่องจากเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เมื่อเจ็บป่วยก็จะติดต่อสู่กันได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดเชียงใหม่มีมากกว่าร้อยแห่ง สำหรับแนวทางในการดำเนินงานศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคเพื่อลดอัตราการป่วยและตายด้วยโรคมือเท้าปากและโรคติดต่อในเด็กเล็กในเขตพื้นที่นั้น เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมาทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่และปลอดโรค ร่วมกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคติดต่อในเด็กเล็ก การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค เพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพหากโรคเกิดการระบาดขึ้น และยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จัดกิจกรรมควบคุมโรคด้วยการให้สุขศึกษาและความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมโรค แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและป้องกันโรคมือ เท้า ปาก เน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร หรือก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย ใช้ช้อนกลาง
ผู้ปกครองต้องใส่ใจดูแลเครื่องใช้ส่วนตัวของเด็กให้สะอาด ไม่ปะปนกับเด็กอื่น และไม่ควรนำเด็กไปเล่นคลุกคลีกับเด็กป่วย เพราะโรคนี้สามารถติดต่อกันง่ายจากการรับเชื้อเข้าทางปาก ไอ จามรดกัน ซึ่งเชื้อมักจะติดมากับมือของผู้ป่วย และแผลพุพอง จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอาการ หากพบลูกหลานป่วยควรให้หยุดเรียน และพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 กันยายน 2556
- 259 views