มติชน - นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาการจมน้ำ เป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุ ต่ำกว่า 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปี 2555 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตรวมทั้งหมด 18,675 คน เฉลี่ยปีละประมาณ 1,400 คน หรือวันละเกือบ 4 คน ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน เด็กโตมีโอกาสเสี่ยงต่อการตกน้ำ จมน้ำสูง เนื่องจากออกไปเล่นน้ำ หรือออกไปจับปลา ซึ่งหลังฝนตกจะมีน้ำขังตามแหล่งน้ำ แอ่งน้ำ ที่อยู่ใกล้บ้าน หรือแหล่งน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ พบว่าในช่วง 10 ปีมานี้เฉพาะเดือนกันยายน มีเด็กเสียชีวิตแล้วรวม 932 คน ปัจจัยความเสี่ยงจมน้ำหน้าฝน คือ ระดับความลึกของแหล่งน้ำต่างๆ จะลึกมากขึ้น ทั้งจากระดับน้ำหรือจากการขุดให้ลึกขึ้น เพื่อเก็บน้ำในช่วงหน้าฝน
"ในปี 2556 กรมควบคุมโรคสำรวจพบ เด็กโตร้อยละ 70 มีประวัติเคยตกน้ำ และเกือบจมน้ำ เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กผู้หญิง เพราะไม่กลัวจมน้ำถึงร้อยละ 67 ที่สำคัญร้อยละ 90 ออกไปเล่นน้ำโดยไม่ได้นำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ห่วงยางหรือเสื้อชูชีพ มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่มีการเตรียมความพร้อม" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า สธ.ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบครัว และชุมชน สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงที่อยู่ภายในชุมชน จัดการให้เกิดความปลอดภัย เช่น ล้อมรั้ว ฝังกลบหลุมบ่อที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ติดป้ายคำเตือน ทั้งนี้ สธ.ตั้งเป้าลดจำนวนการเสียชีวิตจากการจมน้ำภายในปี 2558-2560 ให้เหลือเพียง 900 คนต่อปี จากเดิมปีละประมาณ 1,500 คน
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 17 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 3 views