หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ - อันดับหนึ่งในการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล คือ "อาการติดเชื้อในกระแสเลือดขั้นรุนแรง" เนื่องจากการรักษาไม่ทันท่วงทีจากระบบการจัดการของโรงพยาบาลในเครือข่าย ทำให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และ กระทรวงสาธารณสุข  ได้เปิดโครงการ "1,500 ชีวิต พิชิตติดเชื้อในกระแสเลือด"โดยจัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดให้ได้รับการรักษาในทันที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต หลังจากพบว่าเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในโรงพยาบาล

ในโรงพยาบาล

ปัจจุบันภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง (Severe sepsis and septic shock) เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย และเป็นปัญหาสุขภาพในแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service plan ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย โดยจากข้อมูล สปสช. พบว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งปัญหาในการรักษาที่ผ่านมา คือยังไม่มีแนวทางการประสานดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์ ภายในจังหวัดอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้น

สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสโลหิตของผู้ป่วยส่วนใหญ่ นพ.พงศ์เทพ ธีระวิทย์ รองเลขาธิการสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า  เกิดจากการป่วยเป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อ หรือที่เรียกทั่วไปว่าโรคปอดบวม ที่ผ่านมาสมาคมอุรเวชช์ฯ จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวางหลักสูตรและฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้มีความรู้ในเรื่องของโรคปอดเกี่ยวกับการติดเชื้อในกระแสเลือด เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคปอดติดเชื้อและผู้ป่วยระบบหายใจล้มเหลวในห้องฉุกเฉิน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นพร้อมกันในผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

การติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น บางครั้งเกิดขึ้นได้ทั้งที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเต็มที่ เช่น แพทย์รู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคปอดติดเชื้อและเริ่มให้ยาฆ่าเชื้อ แต่บางครั้งด้วยสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกันทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ผู้ป่วยส่วนหนึ่งแม้จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ในเบื้องต้น แต่ก็ยังคงมีการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการพัฒนาการบริหารจัดการให้ผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ได้รับการรักษาในห้องฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว จึงมีความสำคัญมาก

"ปัญหาห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศไทย คือมีเตียงน้อยกว่าจำนวนคนไข้ที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลขนาดเล็ก ดังนั้นการเลือกผู้ป่วยที่วิกฤติ มากที่สุดมาทำการรักษาก่อน เพื่อลด อัตราการเสียชีวิตจึงมีความสำคัญมาก  เมื่อตอนนี้ที่ผมยังอยู่โรงพยาบาล พุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก จึงนำ ระบบการให้แต้มซึ่งมีมาตรฐานตามสากล มาใช้ และทำการประเมินผลหลังทดลองใช้ 6 เดือน ซึ่งพบว่าสามารถลดอัตราการ เสียชีวิตผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ"

นพ.พงศ์เทพ  บอกอีกว่า การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ความสำคัญไม่ได้อยู่เพียงแค่การให้ยาและการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงกระบวนการรักษาด้วย โดยเฉพาะการที่แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยรู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรได้อย่างรวดเร็ว จะยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยเป็นไข้ ซึ่งที่เชื้อกำลังจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือด หากแพทย์ทำการรักษาตามมาตรฐานทั่วไป ผู้ป่วยอาจมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้หลังกระบวนการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วของแพทย์ ขั้นตอนสำคัญหลังจากนั้น ก็คือการหาห้องฉุกเฉินรองรับผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งการดำเนินการตามโมเดลนี้ พบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ค่อนข้างมาก

ด้วยสถานการณ์ข้างต้น จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ร่วมมือกับ สปสช. และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล พัฒนาแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างเป็นระบบ โดยพัฒนาแนวทางการปฏิบัติสำหรับดูแลผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐาน ตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดเล็กไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ทั้งการตรวจวินิจฉัย การดูแลเบื้องต้น และการติดตามส่งต่อผู้ป่วยผ่านช่องทางด่วน นำผู้ป่วยมายังห้องไอซียูโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โดย นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุลผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  บอกว่า  ได้มีการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติสำหรับดูแลผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐาน ที่ผ่านมาได้นำร่องในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพบว่าสามารถอัตราการเสียชีวิตได้ จากร้อยละ 73 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 37 ในปี 2554

ต่อมาในปี 2555 จึงได้ขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในเขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งก็พบว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงเช่นกัน ดังนั้นในปี 2556 จึงได้จัดให้มีโครงการ 1,500 ชีวิต พิชิตโรคติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดขั้นรุนแรง ให้รอดชีวิตมากกว่า 1,500 ราย ในระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้

ส่วนระบบตามการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติดูแลผู้ป่วยที่ได้นำร่องไปที่จังหวัด พิษณุโลกนั้น นางนวลขนิษฐ์ ลิขิตลือชา นักวิชาการพยาบาลชำนาญการ สำนักการพยาบาล กล่าวว่า ในทีมสุขภาพนอกจากแพทย์ผู้ทำการรักษาจะมีความสำคัญในอันดับต้นๆ ในการวินิจฉัยอาการและโรคของผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว ขณะเดียวกันพยาบาลซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันในการช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต

ดังนั้น การทำงานในทีมสุขภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้าทีมต้องทำการสื่อสารกับพยาบาลให้เข้าใจ เพราะพยาบาลเป็นผู้รับช่วงต่อในการดูแล โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้พยาบาลสามารถปฏิบัติกับผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

"ประสบการณ์ที่ผ่านมา สามารถพูดได้ว่า การรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องอาศัยทีมสุขภาพที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพราะว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น ไม่นิ่ง ต้องทำการปรับเปลี่ยนแผนการรักษากันตลอดเวลา หากแพทย์สามารถสื่อสารกับพยาบาลให้เข้าใจถึงเป้าหมายในการดูแลผู้ป่วย พยาบาลก็จะสามารถต่อยอดแนวทางการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นางนวลขนิษฐ์ กล่าว

'กระบวนการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้'

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 16 กันยายน 2556