หนังสือพิมพ์บ้านเมือง - ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ นักวิจัยสำนักนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และรองผู้จัดการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวถึง "การควบคุมและจัดการปัญหาจากการบริโภคแอลกอฮอล์" ภายในการประชุมนานาชาติ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 (The 21 th IUHPE World Conference on Health Promotion 2013) ว่า จากผลสำรวจ International Alcohol Control in Thailand ปี 2555-2556 จากประชาชน 6,260 คน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พิจิตร ชลบุรี ชัยนาท ขอนแก่น มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี สตูล พบว่า กลุ่มตัวอย่างดื่มสุรา 5,817 คน คิดเป็น 92.9% โดย 41% เป็นผู้ที่ดื่มติดต่อกันมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป และ 2 ใน 3 ของผู้ดื่ม มักจะดื่มในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น เทศกาลงานบุญในวัด ใกล้สถานศึกษา โดยมีปัจจัยที่เอื้อต่อการติดเหล้า ได้แก่ ติดนิสัยชอบดื่มบนรถ 8.1% ซื้อได้ทุกเวลา 7.2% และหาซื้อได้ง่าย 6.8% เป็นต้น เหล่านี้เป็นเหตุผลทำให้อัตรานักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พ.ญ.พันธ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.) กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่ติดสุรา ว่า ที่ผ่านมา การจัดการปัญหาจะตั้งเป้าการรักษาไปที่ผู้ป่วยที่มีอาการติดสุราในระดับรุนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่อยู่บนยอดพีระมิด คือ มีจำนวนน้อยที่สุดในกลุ่มผู้ปัญหาการดื่มสุรา แต่ต้องใช้ทรัพยากรและความสามารถในการดูแลรักษาค่อนข้างสูง ดังนั้นการดูแลคนที่ปัญหาการดื่มสุราควรจะต้องดูแลตั้งแต่เริ่มมีปัญหาหรือคนที่เพิ่งเริ่มติดสุรา ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหานี้ง่ายขึ้น ด้วยการเสริมแนวทางการเลิกดื่มสุราตั้งแต่ยังเพิ่งเริ่มติดสุรา เปลี่ยนจากการรักษาเป็นการบำบัด และสร้างโอกาสการเข้าถึงการรักษาให้ครอบคลุมทุกสถานบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพราะพบช่องว่างการเข้าถึงการรักษาโรคติดสุราสูงถึง 98% นับเป็นภาระโรคอันดับ 1 ในประเทศไทย
น.พ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาแอลกอฮอล์เป็นปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยมีจำนวนประชากรกว่า 5 ล้านคน ที่ประสบปัญหาจากการดื่มสุรา และไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษา เนื่องจากสถานการณ์การให้บริการสุขภาพนั้นไม่มีการจัดการกับปัญหานี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการพัฒนาอาการติดสุราจากระดับน้อยไปจนถึงขั้นติดสุรารุนแรง ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหา โดยกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา คือ การลงทุนในมาตรการที่ได้ผลและคุ้มค่า และจริงจังในการแก้ปัญหา
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 16 กันยายน 2556
- สุรศักดิ์ ไชยสงค์
- สำนักนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
- ศวส.
- การควบคุมและจัดการปัญหาจากการบริโภคแอลกอฮอล์
- International Alcohol Control in Thailand
- พันธ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์
- แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา
- ทักษพล ธรรมรังสี
- สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ
- กระทรวงสาธารณสุข
- 6 views