"มูลนิธิเกื้อดรุณ" จี้รัฐ อย่าเร่งรีบเจรจาทำความตกลงเอฟทีเอ ไทย-อียู โดยไม่มีข้อมูลครบถ้วนจากภาคต่างๆ แนะชะลอการเจรจาออกไปก่อนอย่างน้อย 5 ปี ชวนภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 18-19 กันยายนนี้ ณ ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่
พ.ญ.ประคอง วิทยาศัย มูลนิธิเกื้อดรุณ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้มีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ( FTA Thai-EU) ตั้งแต่ปี 2553 โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งให้มีการเจรจาอย่างรวบรัดให้เสร็จสิ้นใน 2 ปี เพื่อต้องการให้ทันการต่อสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ จีเอสพี (GSP) ของสินค้าส่งออกบางประเภทกับสหภาพยุโรปตอนต้นปี 2558
จากการจัดประชุมกลุ่ม FTA Watch และกลุ่มเกษตรหลายกลุ่มรวมทั้งกลุ่มชีววิถี ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 23 สิงหา คมนี้ เสนอว่าการเจรจานี้รัฐบาลหวังเพียง การได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ทั้งที่สาเหตุการที่ไทยถูกตัดจีเอสพี นั้นเกิดจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูงติดต่อกัน 3 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5% ไปแล้ว ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ไทยต้องถูกตัดจีเอสพีจากอียู หากไทยถูกตัดจีเอสพีทั้งหมด จะเป็นการสูญเสียรายได้จากการถูกแย่งตลาดเพียงส่วนน้อยของการส่งออกทั้งหมด แต่รัฐบาลไทยก็ยังเร่งรีบเจรจากับสหภาพยุโรปให้เสร็จเพื่อให้ทันต่อ GSP ซึ่งก็จะเป็นการทำให้ลดอำนาจของฝ่ายไทยในการต่อรองเอฟทีเอ ไทย-อียู
รายงานของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) ระบุว่า รัฐบาลตอบสนองต่อการเรียกร้องของภาครัฐ เช่น ไม่ให้เพิ่มการคุ้มครองแรงงาน และไม่ให้เพิ่มมาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ไห้นำเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนมาบังคับกับภาคธุรกิจ แต่รัฐบาลกลับไม่เหลียวแล ผลกระทบต่อชีวิตและการทำมาหากินของประชาชน เช่น ยารักษาโรคจะถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น ยาจะมีราคาแพงขึ้น (เพราะต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา TRIPs หรือทริปพลัส) เปิดทางให้บริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ (เพราะต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991) เปิดทางให้มีการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญยิ่ง (เพราะต้องเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์)
ทั้งยังเปิดทางให้บริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่เข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการลงทุนทางการเกษตรด้วยเงินทุน เทคโนโลยี การเอื้อประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล เกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง เปิดทางให้สินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เช่น แอลกอฮอล์ และยาสูบเข้ามาทำให้สินค้าเหล่านี้ราคาถูกซึ่งกระทบต่อสุขภาพ เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกค่า เสียหายจากงบประมาณแผ่นดินได้ ฯลฯ
กลุ่ม FTA Watch, สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนภายใต้มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิชีววิถี และองค์กรอื่นๆ ขอเชิญชวนภาคประชาชนทั้งเกษตรกร เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายทรัพยากร เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ใช้ยา ผู้ทำงานทางสาธารณสุข และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆจะมาร่วมชุมนุมในวันที่ 18-19 กันยายน 2556 ณ ข่วงประตูท่าแพ เพื่อขับเคลื่อนตรวจสอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ที่ประ ชุมกันที่โรงแรม Le Meridian เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและผู้แทนที่จะมีการเจรจาการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปให้คำมั่นสัญญาประชาคม โดยมอบนโยบายและจุดยืนที่ชัดเจนแก่คณะผู้เจรจาเอฟทีเอเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ผลประโยชน์
ดังนั้น ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO โดยเฉพาะในประเด็นขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร (TRIPs) การผูกขาดข้อมูลยา, การกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญและการจำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่นต่างๆ ทำ ให้จะมีราคาแพงขึ้นมากๆ, ไม่มีการนำข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้ายการลงทุน เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุขสาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
มิฉะนั้น ประเทศอาจถูกเรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประ โยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย,ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า,ให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับผังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล(รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 190)
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีเคยแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ผลดีผลเสียในการทำ ความตกลงการค้าเสรีไทย-EU ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้สิ้นสุดเมื่อเสนอความเห็นให้คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น 4 กลุ่ม คือ ภาครัฐ ภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และกลุ่มภาคประชาสังคมเพื่อรับฟังความเห็นทั่วประเทศ แต่ถึงขณะนี้ความเห็นของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่เคยถูกส่งกลับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
"หากไทยเร่งรีบเจรจาทำความตกลงเอฟทีเอ ไทย-อียู โดยไม่มีข้อมูลครบถ้วนจากภาคต่างๆก็จะทำให้ไทยเสียเปรียบสหภาพยุโรปอย่างมาก ไทยจึงสมควรชะลอการเจรจา เอฟทีเอ ไทยอียู ไปก่อนอย่างน้อย 5 ปี" พ.ญ.ประคอง กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 15 - 18 ก.ย. 2556
- 15 views