ช่วงระหว่างวันที่ 16 -20 กันยายนนี้ จะมีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) รอบที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเจรจารอบที่ 1 ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่กรุงบรัสเซลส์ คาดว่าการเจรจารอบนี้ทางอียูจะมีเอกสารที่เปิดเผยให้เห็นชัดเจนว่ามีจุดยืนและข้อเรียกร้องในประเด็นใดบ้าง
เหตุผลหลักสำคัญของประเทศไทยที่ต้องเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับอียูคือ ความเป็นห่วงผลกระทบจากการที่ประเทศไทยจะถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preference : GSP) ในปี 2558 ซึ่งในเอกสารที่ทางกระทรวงพาณิชย์นำเสนอต่อรัฐสภา (8 พฤศจิกายน 2555) เพื่อขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาได้ระบุว่า จะมีผลกระทบทำให้สินค้าส่งออกของไทยไม่ได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีนำเข้าซึ่งเป็นแต้มต่อในการแข่งขัน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ในตลาดสหภาพยุโรปได้
โดยในปี 2554 สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพยุโรป มีมูลค่ากว่า 2.97 แสนล้านบาท สินค้าที่สำคัญ เช่น รถยนต์ขนส่ง เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลสด/แช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง และยางรถยนต์ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งสินค้าจากประเทศอาณานิคมเดิมของสหภาพยุโรปที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP ทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำความตกลงการค้าเสรีกับอียูเพื่อจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นการถาวร ทดแทนการได้รับสิทธิพิเศษ GSP ซึ่งเป็นการให้สิทธิชั่วคราว
ในประเด็นนี้ มีเอกสารรายงานของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (วันที่ 9 กรกฎาคม 2555) ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของการปฏิรูประบบ GSP ของสหภาพยุโรปต่อการส่งออกของไทย จากการวิเคราะห์พบว่า ในช่วงปี 2557 สินค้าที่มีแนวโน้มถูกตัด GSP เพราะมีส่วนแบ่งตลาดเกินเกณฑ์ที่ EU กำหนดจำนวน 50 รายการ โดยประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าเท่ากับ 77.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วงที่ 2 คือ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป ที่ไทยมีแนวโน้มถูกตัดสิทธิทั้งประเทศทำให้สินค้าที่เหลือจำนวน 723 รายการไม่สามารถใช้สิทธิ GSP มีผลกระทบเป็นมูลค่า 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้การที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ยังมีแนวโน้มที่อาจเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าจากสินค้าของไทยไปยังสินค้าของคู่แข่งที่ยังคงรับสิทธิ GSP เป็นมูลค่า 938 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นรวมผลกระทบทั้งหมด 1,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นประมาณ 34,560 ล้านบาท) ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวมาจากการปฏิรูประบบ GSP ของอียูยังไม่ได้ประเมินถึงผลกระทบจากการเบี่ยงเบนทางการค้าในกรณีที่คู่แข่งสำคัญของไทยในระบบ MFN มีการจัดทำ FTA กับ EU
จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากเรื่องการถูกตัด GSP ไม่ได้สูงมากตามที่เป็นเหตุผลหลักของผู้ผลักดันการเจรจา ในอีกด้านหนึ่งมีการศึกษาต้นทุนผลกระทบจากข้อเรียกร้องของฝ่ายอียู เกี่ยวกับเรื่องการยกระดับคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อการเข้าถึงยาซึ่งทำการศึกษาโดยนักวิชาการในกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า การขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปจาก 20 ปีตามข้อเรียกร้องของอียู จะทำให้ราคายาแพงขึ้น คิดเป็นผลกระทบประมาณ 28,000 ล้านบาท และมีต้นทุนผลกระทบจากการผูกขาดข้อมูลยาในการขึ้นทะเบียนยาอีกประมาณ 8,100 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากข้อเรียกร้องของอียูเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งมีการประเมินในเบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อการลดสิทธิเกษตรกรที่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยให้การคุ้มครอง ผลกระทบต่อการเพิ่มราคาเมล็ดพันธุ์พืช คิดเป็นต้นทุนอีกประมาณ 84,000 ล้านบาท
ผู้ผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลง FTA มักกล่าวอยู่เสมอว่า การเจรจา FTA ย่อมมีได้มีเสีย ต้องดูภาพรวม ปัญหาที่ผ่านมาคือ ไม่มีการคิดประเมินต้นทุนผลกระทบที่จะต้องจ่ายไปอย่างครบถ้วนและรอบด้านเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่เราต้องการ การตัดสินใจจึงอยู่บนพื้นฐานข้อมูลตัวเลขการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจเป็นภาพลวงตา และในระยะยาวอาจ "ได้ไม่คุ้มเสีย"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 15 - 18 ก.ย. 2556
- 16 views