เอฟทีเอ ว็อทช์ แฉ อุตสาหกรรมส่งออกกุ้ง-ไก่จับมือบรรษัทยาข้ามชาติหนุนกรมเจรจาฯยอมขยายสิทธิผูกขาดยาตามอียู นักวิชาการชำแหละพรีม่าร่อนจดหมายบิดเบือนทั่ว

การอภิปรายเรื่อง  กระบวนการพัฒนากฎหมายนโยบายสาธารณะ ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษาการการจัดทำ FTA Thai-EUต่อการเข้าถึงยา ซึ่งจัดขึ้นที่ อาคารศศนิเวศน์ จุฬาฯ เมื่อบ่ายที่ผ่านมา

นายจักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ระบุว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญที่ควรประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ  ควรใช้ปัญญา มีธรรมาภิบาล ปราศจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม น่าเสียดายที่เรื่องนี้ยังไม่เกิดในหน่วยงานที่รับผิดชอบการเจรจา “ณ ขณะนี้ กรมเจรจาฯ มีจุดยืนที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ทั้งสองกลุ่มนี้สนับสนุนร่างกรอบที่กรมเจรจาฯเสนอ แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการว่า ไม่ได้ใช้ความรู้และงานวิจัยที่มีการศึกษามา แต่กลับพยายามเร่งให้เกิดการเจรจาเร็วที่สุดอย่างไม่มีเหตุผล จนไม่ยอมรอการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังดำเนินการอยู่”

ดร.สุชาติ จองประเสริฐ นักวิชาการด้านยา กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ขอพูดในฐานะนักวิชาการอิสระ เพราะเห็นว่าการพัฒนานโยบายสาธารณะต้องมาจากการจัดทำของหน่วยราชการ และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ผ่านมามีนโยบายสาธารณะดีๆจำนวนมากที่ออกมาไม่ได้ เพราะมีกระบวนการให้ข้อมูลที่บิดเบือนกับสังคม จากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์หรือคนที่ไม่สามารถเอากอบโกยประโยชน์จากสังคมได้อย่างเต็มที่

“ตามที่สมาคมพรีม่า ส่งจดหมายกล่าวหาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพขณะนี้แปลความหมายคลาดเคลื่อนจากข้อมูลความเป็นจริง ส่งผลให้การวิจัยผิดพลาด แล้วสำเนาจดหมายนี้ไปยังหน่วยงานรัฐและเอกชน 17 หน่วยงาน เพราะองค์กรเหล่านี้คือองค์กรที่ตัดสินนโยบายสาธารณะ ซึ่งการเขียนเช่นนี้ จะมีผลเมื่อส่งไปยังองค์กรที่ไม่มีความรู้ หากสามารถทำให้เขาชะลอหรือออกนโยบายที่สนับสนุนบรรษัทยาข้ามชาติได้ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งๆที่สิ่งที่พรีม่าเขียนในจดหมายไม่ใช่การแปลความ แต่เป็นการหาข้ออ้าง ในการสนับสนุน พรีม่ามีสิทธิให้ความเห็นแต่ไม่ควรโกหก

สาระในจดหมายที่โกหก หรือให้ข้อมูลไม่ครบ อาทิ ในความตกลงทริปส์ไม่มีการชดเชยอายุสิทธิบัตร แม้มีการให้ในบางประเทศไม่ใช่สากล, การทดสอบว่ายามีความปลอดภัยเป็นองค์ความรู้สาธารณะที่ไม่มีสิทธิผูกขาด,  หากยอมให้มีการผูกขาด ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นการประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) จะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง,  ข้ออ้างที่ว่าให้ บริษัทยาชื่อสามัญลงทุนวิจัย เป็นเรื่องโกหก เพราะใครจะให้ทำวิจัยที่รู้คำตอบแล้ว คณะกรรมการจะไม่ให้ทำวิจัยซ้ำ ทำไมจึงให้ผู้ป่วยมาเสี่ยงอีก เขารู้ว่าบริษัทยาชื่อสามัญในไทยไม่สามารถทำได้ คือปิดช่องนั่นเอง และมาตรการ ณ จุดผ่านแดน ให้ตรวจ จับ ยึด อายัด ลิขสิทธิกับเครื่องหมายการค้า เพราะเห็นด้วยตา แต่ถ้าทำเอฟทีเอจะต้องเป็นทุกประเภทที่จะละเมิดทรัพยสินทางปัญญาด้วย ซึ่งทุกวันนี้ แม้แต่ อย.ยังไม่สามารถฟันธงการละเมิดสิทธิบัตรได้ ต้องส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การปล่อยให้มีการยึดจับยาละเมิดสิทธิบัตร ณ จุดผ่านแดน จะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่น ยาชื่อสามัญช่วยชีวิตของอินเดียถูกยึดในสหภาพยุโรปถึง 18 ครั้ง ซึ่งล่าสุด สหภาพยุโรปยอมรับแล้วว่า การกระทำนี้ทำไม่ได้ นอกจากนี้ ข้ออ้างเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากยาปลอม ยาด้อยคุณภาพนั้น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่เรื่องของยาปลอม ยาด้อยคุณภาพก็มีทั้งยาแบรนด์เนมและยาชื่อสามัญ”

ดร.ภก.สุชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่อยู่ อย. ยืนยันว่า จุดยืนของการไม่รับข้อตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์นั้นสอดคล้องต้องตรงกับสถาบันวิจัยชั้นนำในประเทศนี้ทั้งหมด แต่คงไม่ถูกใจบริษัทยาข้ามชาติ พวกนี้คือปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องหนักแน่น  

ทางด้าน รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้การทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพได้คัดเลือกเนื้อหาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดจากเอฟทีเอ ไทย-อียู ใน 4 ประเด็น คือ การ การออกประกาศนียบัตรเพิ่มเติมการคุ้มครองเพิ่มเติม, การ​ผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา (Data Exclusivity), การปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาที่อียูบังคับ และการใช้มาตรการ ณ จุดชายแดน รวมถึงประเมินมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และทางทีมวิจัยจะทำหนังสือชี้แจงไปทุกหน่วยงานที่พรีม่าได้ทำหนังสือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ การอภิปราย  กระบวนการพัฒนากฎหมายนโยบายสาธารณะ ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษาการการจัดทำ FTA Thai-EUต่อการเข้าถึงยา ร่วมจัดโดยสถาบันวิจัยสังคม, ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(ติดตามคลิปการเสวนาได้ทาง http://www.thaidrugwatch.org เร็วๆนี้)