ไทยรัฐ - กลับจากการรับรางวัล องค์การอนามัยโลก ที่ ศรีลังกา ในฐานะ ผู้นำนโยบายด้านการควบคุมยาสูบ ร่วมกับ ประธานาธิบดีศรีลังกา เมื่อต้นเดือน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีสาธารณสุข ก็เดินหน้ายื่นคำอุทธรณ์ถึง ศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ ยกเลิกคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ทุเลาการบังคับใช้กฎหมายให้พิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นขนาด 85% ทันที
การยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขได้เสนอหลักฐานเพิ่มเติมว่า
บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ 3 แห่ง นำโดย ฟิลิป มอร์ริส ที่ฟ้องขอให้ทุเลาการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% ในวันที่ 2 ตุลาคม โดยอ้างว่ามีปัญหาทางเทคนิค ไม่สามารถปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้มีคำเตือนบนซองบุหรี่ 10 ภาพในหนึ่งคาร์ตันได้ แต่ขณะนี้ ได้มีบริษัทบุหรี่อีก 9 บริษัท รวมถึง โรงงานยาสูบไทย ได้แจ้งต่อกระทรวงสาธารณสุขว่า ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ และพร้อมจะดำเนินการตามประกาศกฎกระทรวง
น่าแปลกไหม ขณะที่ 3 บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ฟิลิป มอร์ริส, แจแปน โทแบคโค และ บริทิช อเมริกัน ฟ้องศาลอ้างว่า ขัดข้องทางเทคนิค ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมายไทย แต่กลับมี บริษัทบุหรี่ข้ามชาติอีก 8 บริษัท รวมทั้ง โรงงานยาสูบไทย แจ้งต่อกระทรวงสาธารณสุขว่า สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมายทุกประการ
หาก 3 บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ยังได้รับความคุ้มครองจากศาลปกครองต่อไป เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 2 ตุลาคม เมืองไทยจะมีบุหรี่ 2 มาตรฐาน คือ บุหรี่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย พิมพ์คำเตือน 85% บนซองบุหรี่ กับ บุหรี่ของ 3 ยักษ์ใหญ่ ที่ได้รับการคุ้มครองจากศาล มีคำเตือนขนาดเล็กกว่ายี่ห้ออื่นทั่วไป ประเทศไทยจะตอบต่อสังคมโลกอย่างไร
วันก่อน นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ส่งบทความมาให้ผมเรื่องหนึ่งชื่อ “ถ้าคิดตามพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัว” โดยอัญเชิญพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในวันมหามงคลดังนี้
“เห็นมีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ แล้วก็ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่จริงเด็กอายุ 50 ปี ก็ควรห้าม”
ถ้าคิดตามพระราชดำรัส ห้ามขายบุหรี่ให้คนที่มีอายุ 50 ปีลงมา คนไทยที่ยังสูบบุหรี่อยู่ 13 ล้านคนในวันนี้ จะลดเหลือ 3 ล้านคนทันที
สมัยนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า “ยืนยันว่ารัฐบาลจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสไปปฏิบัติ” และเห็นชอบกับข้อเสนอ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้น ที่เสนอให้ กรมประชาสัมพันธ์ งดรับการสนับสนุนจากโรงงานยาสูบด้วยการลงข้อความต่อท้ายว่า “ด้วยความปรารถนาดีจากโรงงานยาสูบ” หรือ “ด้วยความห่วงใยจากโรงงานยาสูบ” และได้มีประกาศห้ามของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วย
แต่วันนี้ ดูเหมือนด้วยความปรารถนาดีแต่ประสงค์ร้ายต่อผู้สูบ จะหวนกลับมาอีกแล้ว
เอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 36.7 ตอบว่า อยากให้ใช้แบบ 85% ร้อยละ 35.2 ตอบว่า อยากให้ใช้แบบ 100% มีเพียง ร้อยละ 28.1 ที่ตอบว่า อยากให้ใช้คำเตือน 55% เท่าเดิม เท่ากับ 71.9% ที่อยากให้ใช้ 85% ขึ้นไป
เมื่อถามเจาะลึกถึงความคิดเห็นต่อ ประสิทธิภาพคำเตือนขนาด 55% กับ 85% ตัวอย่างกลุ่มที่สูบบุหรี่ตอบว่า ภาพคำเตือนขนาด 85% มีประสิทธิภาพสูงกว่า เช่น ทำให้คิดถึงอันตรายจากพิษภัยบุหรี่ ทำให้รู้สึกว่าเสี่ยงที่จะเป็นโรคตามภาพเตือน ทำให้คิดที่จะเลิกสูบ ทำให้ตัดสินใจเลิก ทำให้สูบบุหรี่น้อยลง ฯลฯ
ผมขอเอาใจช่วย คุณหมอประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีสาธารณสุข ในการต่อสู้ครั้งนี้ครับ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทย เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพคนไทยทั้งประเทศในวันนี้และวันหน้า.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 3 views