สุนทร ตันมันทอง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ
ทีดีอาร์ไอ ระบุ ไทยสูญเงินปีละกว่าแสนล้านบาท จากการใช้สิทธิประโยชน์ FTAs เพียงครึ่งเดียว พร้อมนิยามมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรหรือ NTMs ประกอบด้วย 5 ย. คือ เยอะ ยุ่ง ยาก แย่ และเยี่ยม แนะรัฐบาลเจรจาแก้ปัญหาในระดับทวิภาคีมากขึ้น ส่วนเอกชนควรปรับมาตรฐานสินค้าและตรวจสอบให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย
นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย”(ระยะที่ 4) เพื่อศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย และหาแนวทางในการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวตามความท้าทายดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในงานสัมมนาเรื่อง “ภาษีใกล้ศูนย์แล้ว แต่อุปสรรคการค้ายังอยู่?” โดยระบุว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยประสบกับอุปสรรคทางการค้าที่มีมากขึ้นโดยเฉพาะการที่ประเทศคู่ค้านำมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Measures : NTM) มาบังคับใช้มากขึ้นเพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มต้นทุนทางการค้าและการเข้าถึงตลาดมีข้อจำกัดมากขึ้น แต่ในทางกลับกันภาษีศุลกากรระหว่างประเทศภาคีกลับลดลงจนเหลือศูนย์หรือใกล้ศูนย์
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีข้อตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTAs) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว จนถึง ณ ปี 2555 ทั้งหมด 11 ฉบับ ซึ่ง FTAs เป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างภายในกลุ่มลงให้น้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้ FTA เป็นเครื่องมือในการเปิดเสรี เนื่องจาก FTAs เป็นการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศที่เข้าร่วมโดยไม่ขัดกับ WTO ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ร่วมทำ FTA รวมทั้งเป็นการสร้างพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างและขยายฐานการค้าในภูมิภาคอื่นต่อไป โดยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาไทยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTAs อยู่ในระดับ 40-50 % หรือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น และพบว่าส่วนใหญ่มาจากการส่งออกประเภทรถยนต์บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 5 ตันกับเครื่องยนต์นั่งขนาด 1,000-1,500 ซีซี จาก FTAs เต็ม 100% ลดลงเหลือ 43% และ35 % ตามลำดับ
ประเด็นที่น่าตกใจคือ ไทยมีเอฟทีเอและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่กลับใช้เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะในปี 2555 ผู้ส่งออกในไทยประหยัดภาษีศุลกากร 1.18 แสนล้านบาท แต่หากใช้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรอย่างเต็มที่จะอยู่ที่ 2.48 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ในส่วนของการนำเข้าผู้นำเข้าไทยได้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรทั้งหมด 0.9 แสนล้านบาท แต่ในทางกลับกันหากใช้ประโยชน์จาการลดภาษีศุลกากรเต็มที่จะประหยัดภาษีไปได้มูลค่า 1.39 แสนล้านบาท จากข้อมูลเหล่านี้เห็นได้ว่าในแต่ละปีไทยมีเงินตกหล่นอยู่จำนวนหลายแสนล้านบาท
ขณะที่กระบวนการขอใช้สิทธิและการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรใหม่จาก HS 2007เป็น HS 2012 เป็นอุปสรรคสำคัญในมุมมองผู้ประกอบการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีดุลยพินิจต่างกัน กระบวนการขอใช้สิทธิ์ใช้เวลานานเกินไปอาจไม่ทันต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และการตีความพิกัดศุลกากรของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่อาจมีความซับซ้อนคลาดเคลื่อนจากพิกัดศุลกากรในระบบเดิม จนเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิ์ โดยพบว่าสินค้าที่มีการเปลี่ยนพิกัดใหม่มีทั้งหมด 331 รายการ โดยสินค้ากลุ่มดังกล่าวในปี 2554 มีการใช้สิทธิประโยชน์ FTAs เพียง 15.4% แต่ในปี 2555 เมื่อมีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรมีการใช้สิทธิลดลงเหลือ 11.1% ซึ่งจะพบมากในสินค้าประเภทผ้าทอมีขนไพล์ที่เกิดจากด้ายยืน ขณะเดียวกันอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างคือ ความไม่พร้อมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLM ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อัตราการใช้สิทธิ์ FTAs ลดลง ถึงแม้ว่าสัดส่วนมูลค่าการค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLM มีแนวโน้มสูงขึ้นก็ตาม
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ได้ให้คำจำกัดความของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Measures : NTMs) 5 คำ คือ เยอะ ยุ่ง ยาก แย่ และเยี่ยม โดยระบุว่า อุปสรรคจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่มีผลกีดกันการค้า (non-tariff barrier) เป็นสิ่งที่เยอะ ซึ่งพบว่าแนวโน้มการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลับลดลง ส่วนคำว่ายุ่ง นั่นคือ NTMs เกิดขึ้นจากแรงกดดันของผู้ผลิตและผู้บริโภคจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผู้ผลิตในเครือข่ายต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้จะคอยกำหนดมาตรฐานต่างๆ เพื่อการันตีถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค การรักษาสภาพแวดล้อม และเพื่อให้ผู้ผลิตปรับตัวแข่งขันได้
สำหรับนิยามคำว่ายาก นั่นคือ แรงกดดันจากหลายๆด้าน ทำให้ NTMs บางประเภทมีผลกีดกันการค้า อาทิ มาตรการควบคุมราคา มาตรการทางการเงิน มาตรการควบคุมปริมาณ มาตรการผูกขาด เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ ส่วนมาตรการจดทะเบียนเพื่อรวบรวมสถิติ และมาตรการทางเทคนิค จะเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศและรักษาสภาพแวดล้อม รวมถึงแต่ละประเทศมีการบังคับใช้ NTMs ในระดับที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่มีการใช้ NTMs มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนคำว่า แย่ นั่นคือ NTMs จำกัดโควต้าการนำเข้า เช่น มาเลเซียจำกัดปริมาณการนำเข้าน้ำตาลดิบ เวียดนามจำกัดการนำเข้าน้ำตาลดิบและน้ำมันปิโตรเลียม ขณะที่สิงคโปร์ห้ามนำเข้าหมากฝรั่ง ไทยห้ามนำเข้าข้าวกล้อง เนื้อ มะพร้าวแห้งจากฟิลิปปินส์ ซึ่งผลกระทบที่ได้รับนั่นคือ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำของไปขายยังประเทศคู่ค้าได้ โดยการจำกัดการเข้าถึงของตลาดมีผลทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และสุดท้ายคำว่า เยี่ยม คือการที่ NTMs น่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ความเชื่อมั่นทางสินค้าที่มีมาตรฐานสูง มีมาตรการทางสุขอนามัยค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจเชื่อถือสินค้าว่าไม่สร้างมลภาวะภายในประเทศ
ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวปิดท้ายว่า ทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อหลัก ในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ FTAs และลดผลกระทบที่ไม่ใช่ภาษี ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพและความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาการใช้สิทธิประโยชน์ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศและกรมศุลกากร ควรกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการดำเนินงานตามระยะเวลาที่พิจารณา รวมถึงรัฐบาลไทยควรให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้สิทธิประโยชน์ในประเทศอาเซียนใหม่ 2.การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์การใช้สิทธิประโยชน์จากFTAs แก่ผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยเน้นสาขาอุตสาหกรรมที่ยังใช้ประโยชน์ค่อนข้างต่ำ เช่น ผู้ส่งออกยาและผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมไปยังออสเตรเลีย ผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปอาเซียน เป็นต้น 3.การให้ข้อมูลและคำปรึกษาแบบจุดเดียว (One stop service) แก่ผู้ประกอบการ 4.การเจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากร กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศควรผลักดันให้มีการขยายโควต้าการส่งออกสินค้า และควรผลักดันให้ประเทศอาเซียนใหม่ลดภาษีศุลกากรภายใต้ ATIGA ให้ได้ตามกำหนดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการไทย และ 5. การลดผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานกลางร่วมกันของอาเซียน โดยอนุญาตให้สินค้าหรือสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจรับรอง (conformity assessment) ตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่สำคัญได้รับการยกเว้นไม่ต้องตรวจซ้ำอีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยควรให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจ SMEsที่ต้องปรับมาตรฐานสินค้าและตรวจสอบให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย ที่สำคัญรัฐบาลต้องมีการเจรจาแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคีมากขึ้น
ทั้งนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2558 ที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีอาเซียนใหม่และอาเซียนเดิมรวมถึงไทยด้วย จะมีการลดภาษีเหลือศูนย์เปอร์เซนต์ในเกือบทุกรายการ จึงเชื่อว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ทีดีอาร์ไอเสนอไปทั้ง 5 ข้อ จะเป็นประโยชน์ในส่วนของการเคลื่อนย้ายจากการเจรจาลดภาษี ไปสู่การทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จาก FTAs ที่มีอยู่ให้ใช้กันมากยิ่งขึ้น
- 11 views