หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ - ขณะที่มีการเจรจาเขตการค้าเสรีไทยกับสหภาพยุโรปรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายนที่เชียงใหม่ หลังจากมีการเจรจาในรอบแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2556 ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม กลุ่มที่คัดค้านก็มีการทำกิจกรรมรณรงค์คู่ขนานในระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงความเสียเปรียบที่จะเกิดขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และภาคการเกษตร
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป 3 เรื่องหลักคือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991 ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์และยอม รับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตนั้น จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ผลการศึกษาจากสำนักวิจัยชั้นนำของประเทศสรุปทำนองเดียวกันว่า การเจรจาความตกลงการค้าเสรีในส่วนทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ จะก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดอย่างยาว นาน และทำให้ราคายาแพงขึ้นมาก มาย ประเทศไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงยา และส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบรรษัทยาข้ามชาติเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดย นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ "การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย" (ระยะที่ 4) เพื่อศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย และหาแนว ทางในการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวตามความท้าทายได้อย่างทันท่วงที ในงานสัมมนาเรื่อง "ภาษีใกล้ศูนย์แล้ว แต่อุปสรรคการค้ายังอยู่?" ว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยจะประสบกับอุปสรรคทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่นำมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (NonTariff Measures : NTM) มาบังคับใช้มากขึ้น เพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มต้นทุนทางการค้า และการเข้าถึงตลาดมีข้อจำกัดมากขึ้น แต่ในทางกลับกันภาษีศุลกากรระหว่างประเทศภาคีกลับลดลงจนเหลือศูนย์หรือใกล้ศูนย์
ผลการศึกษาข้อตกลงทาง การค้าเสรี (Free Trade Agree- ment : FTAs) ที่มีผลบังคับใช้แล้วจนถึงปี 2555 ทั้งหมด 11 ฉบับนั้น ประเด็นที่น่าตกใจคือ ไทยมีเอฟทีเอและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่กลับใช้เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะปี 2555 ผู้ส่งออกในไทยประหยัดภาษีศุลกากร 118,000 ล้านบาท แต่หากใช้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรอย่างเต็มที่จะอยู่ที่ 248,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ในส่วนของการนำเข้า ผู้นำเข้าไทยได้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรทั้งหมด 90,000 ล้านบาท แต่ในทางกลับกันหากใช้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรเต็มที่จะประหยัดภาษีไปได้มูลค่า 139,000 ล้านบาท คือแต่ละปีไทยสูญเสียผลประโยชน์จากเอฟทีเอหลายแสนล้านบาท
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อหลักในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ FTAs และลดผลกระทบที่ไม่ใช่ภาษีคือ
1.การเพิ่มประสิทธิภาพและความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาการใช้สิทธิประโยชน์ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศและกรมศุลกากรควรกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการดำเนินงานตามระยะเวลาที่พิจารณา รวมถึงรัฐบาลไทยควรให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่หน่วยงานที่มี หน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้สิทธิประโยชน์ในประเทศอาเซียนใหม่
2.การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTAs แก่ผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเน้นสาขาอุตสาหกรรมที่ยังใช้ประโยชน์ค่อนข้างต่ำ เช่น ผู้ส่งออกยาและผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมไปยังออส-เตรเลีย ผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังอาเซียน เป็นต้น
3.การให้ข้อมูลและคำปรึกษาแบบจุดเดียว (One stop service) แก่ผู้ประกอบการ
4.การเจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากร กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศควรผลักดันให้มีการขยายโควตาการส่งออกสินค้า และควรผลักดันให้ประเทศอาเซียนใหม่ลดภาษีศุลกากรภายใต้ ATIGA ให้ได้ตามกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการไทย
5.การลดผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานกลางร่วมกันของอาเซียน โดยอนุญาตให้สินค้าหรือสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจรับรอง (conformity assessment) ตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่สำคัญได้รับการยกเว้นไม่ต้องตรวจซ้ำอีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยควรให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ต้องปรับมาตรฐานสินค้าและตรวจสอบให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย ที่สำคัญรัฐบาลต้องมีการเจรจาแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคีมากขึ้น
ประธานทีดีอาร์ไอยังกล่าวว่า ในปี 2558 ที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีอาเซียนใหม่และอาเซียนเดิม รวมถึงไทย จะมีการลดภาษีเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ในเกือบทุกรายการ จึงเชื่อว่าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ทีดีอาร์ไอจะเป็นประโยชน์ในส่วนของการเคลื่อนย้ายจากการเจรจาลดภาษีไปสู่การทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จาก FTAs ที่มีอยู่ให้ใช้กันมากยิ่งขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันที่ 16 กันยายน 2556
- การเจรจาเขตการค้าเสรีไทยกับสหภาพยุโรป
- วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
- มูลนิธิชีววิถี
- สุภัทรา นาคะผิว
- คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
- มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
- UPOV 1991
- สนธิสัญญาบูดาเปสต์
- ทรัพย์สินทางปัญญา
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- ทีดีอาร์ไอ
- สุนทร ตันมันทอง
- การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย
- นำมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร
- NonTariff Measures
- NTM
- ข้อตกลงทางการค้าเสรี
- Free Trade Agree- ment
- FTAs
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
- 9 views