นักกฎหมายแนะคนไข้รับยาบรรจุผิดฟ้องศาลเรียกเงินชดเชยจากองค์การเภสัชกรรม
นายภูมิ มูลศิลป์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) บรรจุผิดพลาด แม้ยังไม่ได้รับประทานแต่คาดการณ์ได้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย สามารถยื่นฟ้องอภ.ต่อศาลยุติธรรมตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้
ทั้งนี้ ตามหลักการแล้วหน่วยงานรัฐซึ่งในที่นี้คือ อภ.จะต้องชดเชยความเสียหายให้กับผู้ฟ้องร้องก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการภายในของ อภ.เองที่จะตามหาผู้รับผิดชอบที่แท้จริง
"สำหรับการชดเชยนั้นให้เป็นตัวเงินได้ทันที ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องชดเชยให้ผู้เสียหายก่อน เนื่องจากหน่วยงานรัฐได้กระทำการก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนแล้ว" นายภูมิ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้เสียหายอาจใช้ช่องทางของศาลปกครองเพื่อฟ้องร้องคดีเนื่องจากชัดเจนตามที่ อภ.ให้ข้อมูลว่า รัฐละเลยต่อหน้าที่จนเกิดความเสียหายแล้วจริง
"ส่วนการสอบสวนภายในของ อภ.ก็ต้องดูว่าผู้ที่ละเลยจนเกิดความเสียหายนั้นเป็นใคร เข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่แต่ที่สุดแล้วกรณีที่เกิดขึ้นนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ" นายภูมิ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะสรุปรายละเอียดเมื่อวันที่8 ก.ย.ที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในขั้นตอนการสุ่มตรวจคุณภาพยาในห้องแล็บ ซึ่งตามขั้นตอนแม้ว่าคุณภาพยาจะดีก็ต้องทิ้งตัวอย่างยาไป แต่เจ้าหน้าที่กลับเทยาเหล่านั้นเข้าสู่ระบบผลิต จึงทำให้เกิดปัญหาสลับยาระหว่างบรรจุ
"ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่าจำนวนที่มีปัญหาไม่ได้มากมายอย่างที่เข้าใจ โดยล็อตที่ทำการผลิตมีประมาณ 6 แสนเม็ดจริง แต่การบรรจุสลับยามีประมาณ 50-100 เม็ด" นพ.พิพัฒน์ กล่าว
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้ประสานโรงพยาบาลที่ได้รับยาให้หยุดจ่ายยาทันทีและเรียกคืนยาล็อตดังกล่าวแล้ว โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ จะเปิดแถลงถึงสาเหตุความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของอภ.
สำหรับยาที่ อภ.บรรจุสลับแผงกันนั้นคือ ยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต ซึ่งเป็นยาขยายหลอดเลือด ใช้ในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นหลัก ส่วนยาแอมโลดิพีนเป็นยาลดความดันโลหิตสูง
ทั้งนี้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นใน อภ.เนื่องจากเจ้าหน้าที่บรรจุยาไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure) ซึ่งกำหนดว่า ห้ามนำยาที่เอาไปตรวจคุณภาพกลับเข้ามาในห้องบรรจุอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับนำยาเข้ามาในขั้นตอนการผลิตยาตัวใหม่จึงเกิดการปะปน โดยยาดังกล่าวผลิตขึ้นในเดือนมิ.ย.และได้จัดส่งในเดือน ก.ค.-ส.ค. ล็อตการผลิตมีทั้งสิ้น 6 แสนเม็ด
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 9 กันยายน 2556
- 6 views