นางมิเชลเล เบบุท นักศึกษาปริญญาเอก จากประเทศอังกฤษ กล่าวในเวทีเสวนา เรื่องสุขภาพในเรือนจำและสุขภาพหลังถูกคุมขัง ในงานประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 ว่า จากการเก็บข้อมูลทางสุขภาพของผู้ถูกคุมขังในประเทศอังกฤษ และ เวลส์ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด สภาพแวดล้อมที่ไม่ดีพอ ไม่มีการส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังพบว่าร้อยละ 37 เครียดและรู้สึกกดดันในเรือนจำอย่างมาก กระทั่งอยากฆ่าตัวตาย โดยมากกว่าร้อยละ 70 ต้องการพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมแก้เครียดและผ่อนคลาย
นอกจากการสำรวจ ยังมีการทำกิจกรรมกรีนยิม คือ ให้ผู้ต้องหาปลูกต้นไม้ จัดสวน จัดดอกไม้ และรับผิดชอบการปลูกต้นไม้ ซึ่งผู้ต้องขังที่เข้าร่วมกิจกรรม ระบุว่า รู้สึกดีขึ้นและสามารถผ่อนคลายชีวิตจากความเครียดได้
ด้านนพ.อภินันท์ อร่ามรัตย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวในเวทีเดียวกันว่า เรือนจำกลาง จ.เชียงใหม่ พบว่าเผชิญทั้งปัญหาความแออัดและปัญหาสุขภาพภายในเรือนจำ เช่น เรือนจำมีความจุ 1,500 ราย แต่กลับมีผู้ต้องขังมากถึง 3,000 ราย ส่งผลต่อสุขภาพกาย จิตใจอย่างมาก ขณะที่มีข้อจำกัดที่เคยมีอัตราตรวจสุขภาพ 1 ต่อ 15 หรืออย่างมาก ตรวจ 20 รายต่อวัน และนอกจากการลงโทษต้องหาแนวทางการบำบัด ฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ถูกคุมขังกลับสู่สังคมแล้วไม่กลับไปสร้างปัญหาเดิม
นพ.อภินันท์กล่าวว่า เรื่องการจัดสภาพแวดล้อมตามหลักเรือนจำอังกฤษ พบว่าประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติงบประมาณด้านสุขภาพโดยตรงแก่ ผู้คุมขัง ซึ่งไทยมีการให้งบฯกระจายไปยังเทศบาลหรือจังหวัดก่อน
จากนั้นทางราชทัณฑ์ จึงมีสิทธิ์ของบฯ มาใช้ ขั้นตอนซับซ้อน ซึ่งช่วงเดือนก.ย.นี้ ม.เชียงใหม่ จะจัดประชุมเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในห้องขัง และหลังถูกคุมขัง เพื่อหาทางออกเสนอกระทรวงสาธารณสุขให้แก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม สร้างเสริมสุขภาพให้ปลอดโรค และมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่กลับมาทำผิดซ้ำ
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 6 views