ทีมศึกษาเพิ่มสิทธิ-ย่นเวลาเกิดสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เผยแนวโน้มส่งเงินสมทบ 1 เดือนให้ได้รับสิทธิรักษากรณีเจ็บป่วยจากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 3 เดือน แจงเพิ่มสิทธิประโยชน์ต้องรอบคอบคำนึงถึงผลกระทบกองทุนในระยะยาว คาดสรุปผลเสนออนุกรรมการสิทธิประโยชน์ได้ในเดือน ก.ย.นี้
นางสุพัชรี มีครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนในกรณีต่างๆ และระยะเวลาการเกิดสิทธิหลังเข้าเป็นผู้ประกันตน เปิดเผยว่า คณะทำงานฯ ได้กำหนดกรอบการศึกษาออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ผลกระทบต่อผู้ประกันตน ผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม รวมไปถึงผลกระทบระบบงานและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสปส.ส่วนการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน และย่นระยะเวลาการเกิดสิทธินั้นต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีไป นอกจากนั้นมีการประเมินถึงสถานะกองทุนด้วย ซึ่ง สปส.จะศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมและผลกระทบต่อผู้ประกันตนในระยะยาว
รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า จากการศึกษาในเชิงวิชาการเบื้องต้นของคณะทำงานฯ พบว่าบางกรณีมีความเป็นไปได้ เช่น กรณีเจ็บป่วยจากเดิมเมื่อเข้าเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสมทบต่อเนื่อง 3 เดือนแล้วจึงเกิดสิทธิประโยชน์กรณีรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นต้องจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องอย่างน้อย1 เดือนให้เกิดสิทธิ หรือกรณีเสียชีวิตเพราะเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุซึ่งไม่ใช่จากการทำงาน หากส่งเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ก็น่าจะได้รับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ แต่จะให้เร็วกว่านี้คงทำได้ยาก เนื่องจาก สปส.ต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลผู้ประกันตนลงในระบบคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นก็ส่งต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมและออกบัตรรับรองสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน
"คณะทำงานฯ จะเร่งศึกษาโดยคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์และประเมินสถานะกองทุนของสปส.ได้ในเดือนกันยายนนี้ หากผ่านความเห็นชอบจะนำเข้าหารือบอร์ด สปส.เพื่อพิจารณาเสนอต่อรัฐบาล เนื่องจากจะต้องมีการเสนอขอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม" นางสุพัชรี กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 3 กันยายน 2556
- 1 view