การควบคุมป้องกันวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ แนวโน้มดีขึ้น แต่ยังพบปัญหาเกี่ยวกับระบบการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว เนื่องจากไม่สามารถทราบตัวเลขที่แท้จริงได้ กทม.ขอความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุขออกกฎหมายบังคับให้แรงงานต่างด้าวทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ อีกทั้งพร้อมเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัณโรคจากโรงพยาบาลทุกสังกัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นางวันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้อนรับ Dr.Mario Raviglione ผู้อำนวยการแผนงานวัณโรค สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก Dr.Yonas Tegeng ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อรายงานผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5 (5th Joint International Monitoring Mission to Review NTP Thailand) และหารือถึงแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับสถานการณ์และการป้องกันวัณโรคในกรุงเทพมหานคร
นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการหารือว่า สถานการณ์วัณโรคในกรุงเทพ มหานครมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาที่พบขณะนี้อยู่ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่มีการลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้ลงทะเบียน สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนไว้จะมีระบบประกันสุขภาพ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ก็ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ อีกทั้งแรงงานบางคนอาจติดเชื้อวัณโรคแต่ไม่ทราบว่าตนเป็นโรคดังกล่าวและไม่ได้เข้ารับการรักษาก็ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจสอบหาจำนวนผู้ติดเชื้อวัณโรคที่แท้จริงได้
ทั้งนี้ เบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้เสนอแนวทางให้กระทรวงสาธารณสุขออกกฎหมายบังคับให้แรงงานทุกคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยต้องลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวเพื่อที่จะได้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างถูกต้อง เป็นระบบ รวมถึงการประสานความร่วมมือไปยัง หน่วยงานต่างๆ และโรงพยาบาลทุกสังกัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการรวบรวมข้อมูลและสถานการณ์เกี่ยวกับวัณโรค โดยกรุงเทพมหานครพร้อมจะเป็นศูนย์กลางดำเนินการเพื่อที่จะให้ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริง อย่างไรก็ตามการควบคุมและป้องกันวัณโรคต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะประชาชนมีการเดินทางและเคลื่อนย้ายที่อยู่เป็นประจำจะต้องมีการติดตามและดำเนินการอย่างเป็นระบบจึงจะประสบผลสำเร็จ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือประชาชนให้สังเกตอาการหรือตรวจสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างสม่ำเสมอ หากพบมีอาการไข้ต่ำๆ ไอแห้งๆ ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ หรือน้ำหนักลด ไอเป็นเลือด ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องติดต่อกันต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน สามารถหายขาดจากวัณโรคได้ ซึ่งประชาชนขอรับการตรวจรักษาวัณโรคได้ฟรีที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 68 แห่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 สิงหาคม 2556
- 2 views