'กระทรวงสาธารณสุข'ขอคำแนะนำนักกฎหมายออสเตรเลีย อุทธรณ์คำสั่งชะลอประกาศ'ภาพคำเตือนบุหรี่' เล็งยื่นศาลปกครองภายใน 1-2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแนวทางการชี้แจงคำสั่งศาลปกครองที่คุ้มครองชั่วคราวประกาศกระทรวงสาธารณสุขกรณีการขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ว่า ที่ประชุมได้เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาล ในเบื้องต้นอยู่ระหว่างอ่านรายละเอียดคำสั่งศาลเพื่อเตรียมยื่นอุทธรณ์ภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ และล่าสุดได้มีการรายงานเรื่องดังกล่าวให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทราบแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.สั่งการให้ต่อสู้เต็มที่
"การสู้คดีในครั้งนี้ สธ.ได้รับชัยชนะตั้งแต่ต้นแล้ว เนื่องจากเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและจากการศึกษาข้อโต้แย้งของผู้ประกอบการ สธ.เชื่อว่าสามารถชี้แจงให้ศาลเข้าใจได้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อหลายประเทศเห็นคำสั่งศาลปกครองก็รู้สึกตกใจเช่นกัน" นพ. นพพรกล่าว และว่า ประเทศไทยจะได้รับความร่วมมือจากนักกฎหมายของประเทศออสเตรเลียมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสู้คดีในชั้นศาล เนื่องจากประเทศออสเตรเลียเคยประสบความสำเร็จในการต่อสู้คดีมาก่อน
วันเดียวกัน ที่ศูนย์การประชุมพีช พัทยา จ.ชลบุรี ในการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากประเทศต่างๆ จาก 81 ประเทศเข้าร่วม ดร.ไมเคิล สปาร์ก ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา (IUHPE) พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ กว่า 1,000 คน ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการออกกฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่
ดร.ไมเคิลกล่าวว่า ในฐานะประธานสมาพันธ์ขอสนับสนุน สธ.ประเทศไทย ให้เดินหน้าเพิ่มขนาดภาพคำเตือนเป็นร้อยละ 85 เพราะการออกภาพคำเตือนเป็นมาตรการการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพช่วยลดการบริโภคยาสูบอย่างได้ผล หลายประเทศทั่วโลกได้ได้ดำเนินการแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เพิ่มขนาดเป็นร้อยละ 87.5 อุรุกวัย ร้อยละ 80 และอีกหลายประเทศกำลังขยายภาพคำเตือนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นกัน และว่า การสนับสนุนการออกกฎหมายของประเทศไทยในครั้งนี้เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนด้วย 3 เหตุผล คือ 1.บุหรี่เป็นสินค้าซึ่งแม้จะถูกกฎหมายแต่เป็นสาเหตุการตายมากที่สุดในโลก 2.เป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ และ 3.ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างให้กับนานาชาติในการคุ้มครองประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยควรต่อสู้ทางกฎหมายอย่างไร ดร.ไมเคิลกล่าวว่า ต้องยืนหยัดเพื่อผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้สามารถบังคับใช้ให้ได้ แต่หากประเทศไทยหยุดการผลักดันกฎหมายจะส่งผลต่อประเทศอื่นด้วย
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 30 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view