เครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพ 17 จังหวัดภาคเหนือ จัดประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “คุณภาพเครือข่ายบริการภาคเหนือ” พัฒนามาตรฐานหน่วยบริการ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อ – รับกลับผู้ป่วย 6 กลุ่มโรคร้ายแรง
เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2556 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “คุณภาพเครือข่ายบริการภาคเหนือ ครั้งที่ 1” โดยความร่วมมือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3 เขตภาคเหนือ (เขต ๑ เชียงใหม่ เขต ๒ พิษณุโลกและเขต ๓ นครสวรรค์) ร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง 17 จังหวัดภาคเหนือ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน
ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาเรื่องนโยบายการพัฒนาศักยภาพและการจัดบริการแบบพวงบริการ(service plan) ของกระทรวงสาธารณสุขและความเชื่อมโยงกับคุณภาพเครือข่ายบริการผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง โดย พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ จากสำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานเด่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้(KM)การพัฒนาเครือข่ายบริการและการบรรยายวิชาการ 6 เครือข่ายบริการ
นายแพทย์วรชัย อึ้งอภินันท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต ๑ เชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบการรับส่งต่อและรับกลับถือเป็นเรื่องสำคัญในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าและรับกลับไปยังหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อให้ได้รับการดูแลที่ต่อเนื่อง สปสช.จึงได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง 6 เครือข่าย มาตั้งแต่ปี 2552 ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด(Stroke) โรคหลอดเลือดสมอง(STEMI) กลุ่มโรคมะเร็ง(Cancer) บริการทารกแรกเกิดน้ำน้อย(New born) เครือข่ายบริการจิตเวช(Psychosis) เครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง(Palliative care)
จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าแต่ละเครือข่ายมีการพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องและเกิดผลลัพธ์ที่ดี บางเครือข่ายมีการเผยแพร่ขยายผลสู่หน่วยงานภายนอก การจัดประชุมวิชาการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายทำให้เพิ่มศักยภาพให้เกิดการพัฒนาที่ยั้งยืน และยังเป็นการยกยกให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานและหน่วยบริการในเครือข่าย
นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายในการพัฒนาเครือข่ายบริการ ผู้ป่วยโรคที่มีอัตราตายสูงเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 โดยเริ่มต้นใน 4 โรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย ต่อมาในปี 2553 จึงพัฒนาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช เครือข่ายการดูแลแบบประคับประคองและเครือข่ายบริการบาดเจ็บที่ศรีษะ เพิ่มเติมเข้ามาอีก
ทั้งนี้ภายหลังการจัดตั้งเครือข่ายพบว่ามีการพัฒนาระบบส่งต่อ-ส่งกลับ ที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมากขึ้นและอัตราการป่วยตายน้อยลง เช่น
1.อัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพิ่มขึ้นจาก 27.67% ในเดือนตุลาคม 2552 เป็น 61.68% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556
2.อัตราการได้รับเคมีบำบัดโดยผุ้ป่วยมะเร็งโดยหน่วยบริการในจังหวัด เพิ่มขึ้นจาก 55.71% ในปี 2554 เป็น 61.32% ในปี 2555
3.อัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.18% ในปี 2552 เป็น 2.67% ในปี 2556
4.อัตราทารกแรกเกิดน้ำหนัก 1,500 – 2,499 กรัม เสียชีวิตภายใน 28 วัน ลดลงจาก 1.11% ในปี 2554 เป็น 1.02% ในปี 2556
5.จำนวนการเข้าถึงยามอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการที่บ้านของผู้ป่วยระยะสุดท้าย(paliatine care) จากเดิมในปี 2555 มีผู้เข้าถึงบริการ 5,305 ราย ขณะที่เพียงครึ่งปีของปี 2556 มีผุ้เข้าถึงบริการแล้ว 4,846 ราย
- ประชุมวิชาการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณภาพเครือข่ายบริการภาคเหนือ
- เชียงใหม่
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- การจัดบริการแบบพวงบริการ
- service plan
- กระทรวงสาธารณสุข
- โรคที่มีอัตราตายสูง
- จิรวรรณ อารยะพงษ์
- สำนักบริหารการสาธารณสุข
- พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์
- วรชัย อึ้งอภินันท์
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- Stroke
- โรคหลอดเลือดสมอง
- STEMI
- กลุ่มโรคมะเร็ง
- Cancer
- บริการทารกแรกเกิดน้ำน้อย
- New born
- บริการจิตเวช
- Psychosis
- การดูแลแบบประคับประคอง
- Palliative care
- 22 views