โครงการ "ฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์" ด้วย "บัตรสุขภาพแม่และเด็ก" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2556 เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
ขอเรียนว่า "ใช่เลย"..และสิ่งที่ใช่เลย ประการแรก คือ รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้เห็นความสำคัญเรื่อง "อนามัยแม่และเด็ก" ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญแรกสุดของทรัพยากรมนุษย์วันนี้สู่อนาคตและโครงการนี้ตอบปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะ "มนุษยชาติ" ซึ่งเป็น "เมล็ดพันธุ์ชีวิต" ที่สำคัญหากจะพูดอีกนัยยะได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของ "Good Health Start Here" (1st Station) หรือเรียกว่า "สถานีแรก" ของชีวิตสู่การมีสุขภาพดีต้องเริ่มที่ "งานอนามัยแม่และเด็ก"
คำตอบ "ใช่เลย" ประการที่สอง ของโครงการ "ฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์" ด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็กคือ เป็นโครงการที่ช่วยตอบโจทย์ทางสังคม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคตคือ "เด็กเกิดน้อย คนสูงวัยมากขึ้น" แล้วประเทศไทยจะไปอย่างไร"?
คำตอบของผู้เขียนคือ ในบทบาทของนักสาธารณสุข ต้องบอกว่า วงการแพทย์ต้องการให้ "ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย" และคนเป็นพ่อแม่นั้นต้องการให้ "ลูก" ที่เกิดมามี "คุณภาพ" มีอาการครบ 32 มีสัดส่วนอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และปลอดจากโรค "พันธุกรรม" หลายๆ โรคที่เกิดขึ้นมาในอดีตซึ่งคนโบราณมักบอกว่าเป็นโรคเวรโรคกรรม หรือโรค "กรรมเก่า" และยังปรากฏให้เห็นในบางพื้นที่ของประเทศอยู่เนืองๆ ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น โรค Down Syndrome Thalassemia, PKU, G-6-PD รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบสมอง ประสาท ต่อมไร้ท่อ ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก ที่ต้องการลงทุนสูงด้านองค์ความรู้เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการดูแลแบบชนิดพิเศษๆ ซึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดมาตาม "Ottawa Charter" และ "Bangkok Charter"
หากย้อนหลังในอดีตช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงไทยคนหนึ่งจะมีบุตรเฉลี่ยตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตนมากถึง 6 คน ทำให้เกิดสภาวะ มีลูกมากในแต่ละครอบครัว ครอบครัวของผู้เขียนเองก็อยู่ในกลุ่มมีลูกมากเพราะมีพี่น้องท้องเดียวกันถึง 7 คน
การมีลูกมากในสมัยนั้นทำให้รัฐบาลต้องผุดโครงการวางแผนครอบครัวขึ้นครั้งแรกในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ 17 มีนาคม 2513 มีการรณรงค์วางแผนครอบครัวอย่างต่อเนื่องบูรณาการหลายกระทรวง เช่น มหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตร และกระทรวงสาธารณสุข เคยมี Motto สมัยนั้น
ว่า "ลูกมากยากจน" จนกระทั่ง ท่านมีชัย วีระไวทยะ ได้ช่วยรณรงค์เรื่อง "ถุงยางมีชัย" เป็นความสำเร็จของงานด้านประชากรกับการพัฒนา และ WHO, UNDP ให้การยอมรับในความสำเร็จของประเทศไทย จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ 50 ปี เรามีประชากร 64 ล้านคน ถามว่ามากไหม หากเปรียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเริ่ม มีนโยบายประชากรพร้อมประเทศไทย ในขณะนี้มีประชากร 94 ล้านคน ประเทศเขาประสบปัญหา "ประชากรมาก" เมื่อเทียบกับแผ่นดินที่มีอยู่เท่าเดิม ขณะที่เรามีน้อยกว่าเขา 30 ล้านคน ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติที่จุนเจือชีวิต... เมื่อก่อน "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" พอกิน พอใช้ พออยู่ แต่ปัจจุบันเรากำลังจะขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต...
แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของคนไทยที่กว้างไกล คนไทยก็ได้รับพระราชทานปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยการปลูกข้าว พืชผัก สัตว์เลี้ยง ประมง เกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่นาสวนผสมต่างๆ... มาเป็นหลักการและแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นจากปัญหาภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้น
คำตอบ "ใช่เลย" ประการที่สาม แม้จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของหญิงไทยจะลดลงจาก 6 คน มาเหลือเพียง 1.6 คน แม้เด็กจะเกิดน้อย แต่ "ต้องมีคุณภาพ" โดยจะต้องมีคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้น นับตั้งแต่ส่งเสริมการ "เลือกคู่ เลือกครรภ์ เลือกคลอด" ทุกขั้นตอนของชีวิต "การเลือกคู่" ถ้าจะมีคู่ ก็เป็นคู่ที่มีคุณภาพทั้งชายหญิง ปลอดโรค ปลอดพาหะพันธุกรรม "การเลือกครรภ์" ด้วยระบบการฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดกับแพทย์ ด้วยการเจาะเลือดแม่พ่อว่ามีความเสี่ยงหรือมียีนที่ผิดปกติหรือไม่ก่อนตั้งท้อง การ "เลือกคลอดอย่างมีคุณภาพ" เด็กที่ปฏิสนธิอยู่ในท้องแม่เมื่อตั้งครรภ์เป็นทารก (Fetus) ก็สามารถตรวจสอบด้วยเครื่องมือแพทย์พิเศษ โดยการเจาะเลือดจากสายรกเด็กที่อยู่ในครรภ์ เป็นการตรวจพบตั้งแต่เด็กใน
ท้องก่อน เพื่อป้องกันและให้ปลอดภัยจากโรคร้ายจะได้เป็นเด็กมีคุณภาพดี
เมื่อต้องคลอด พ่อแม่จะมีความมั่นใจ เพราะขณะนี้โรงพยาบาลของรัฐทุกระดับทั้งจังหวัด อำเภอ และเอกชน ได้รับการพัฒนาให้เป็น "ห้องคลอดที่มีคุณภาพ" ซึ่งนอกจากมีสูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลห้องคลอดที่ชำนาญการแล้ว จะมีเครื่องมือและเทคโนโลยีดูแลขณะคลอด และดูแลหลังคลอดเพื่อให้ "ทารก" (Newborn) คลอดปกติ และเป็นทารกแรกคลอดที่ครบสมบูรณ์ เจริญเติบโต เจริญตามวัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และเข้าสังคมได้ดี อันนี้แหละคือเป้าหมายสำคัญที่สุด
อย่างไรก็ตาม การฝากครรภ์ การคลอด การดูแลหลังคลอด เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพให้เด็ก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องเตรียมรองรับ เพื่อให้บริการอย่างมีคุณภาพ แต่ "คุณแม่" เอง ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่ "คุณภาพ" ด้วยเช่นกัน
การเตรียมตัวเป็นคุณแม่ยุคใหม่ ยุค Digital หรือ "สังคมสื่อสาร" สตรีมีครรภ์ ต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและใจ เพื่อลูกจะได้แข็งแรง มีพัฒนาการที่เหมาะสมตลอด 9 เดือน ที่อยู่ในท้องแม่ ดังนั้น เมื่อทราบแน่ชัดว่าตั้งครรภ์ ผู้เป็นแม่จะต้องดูแลตนเองให้มากขึ้น เช่น รักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงจนเกินไป เพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งอาจจะทำให้แท้งได้ ส่วนเรื่องการทำงานนั้น ก็ยังทำได้ตามปกติแต่ต้องไม่หนักจนเกินไป ต้องระวังเรื่องการกินยา ถ้าป่วยต้องไปพบแพทย์ ห้ามซื้อยากินเองเด็ดขาด เพราะยาจะมีผลต่อลูกในท้องได้
ต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ตามหลัก อ.แรกคือ "อาหาร" ต้องกินอาหารให้มีประโยชน์ มีโปรตีนสูงจากเนื้อ นม ไข่ ตับ อาหารที่มีแร่ธาตุสูง เช่น ผักสด ผลไม้สด ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หากแพทย์ให้ยา
บำรุงมากิน ต้องกินให้ครบ อาหารที่แม่ควรละเว้นคือ อาหารรสจัด ของหมักดอง น้ำชา กาแฟ อาหารสุกๆ ดิบๆ
ระหว่างตั้งครรภ์ อ.ที่สองสำคัญคือ อ. "อารมณ์" ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ จิตใจผ่องใส อย่าเครียด ยิ้มไว้ ลูกในท้องก็จะยิ้มและอารมณ์ดีด้วย ควรพักหลังอาหารกลางวันสัก 1/2-1 ชั่วโมง ที่สำคัญลืมไม่ได้ ต้องไปตามนัดหมอเพื่อตรวจครรภ์ทุกครั้ง
อ.ที่สาม คือ "ออกกำลังกาย" สำคัญมาก มีหลายวิธี สมัยก่อนไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องนี้กันมาก ขอบอกแม่ยุคใหม่ว่าต้องมี ทำได้ ง่ายมาก เริ่มต้นด้วยการขมิบก้นวันละหลายๆ ครั้ง เพื่อช่วยให้กระบังลมแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดี รู้ไหมว่ามันช่วยให้ "คลอดง่าย" ขึ้นกว่าคนไม่ได้ทำ อีกวิธีคือการ "เดินเร็วๆ" พอให้รู้สึกว่าเหนื่อย หรือออกกำลังกายด้วยการ "ว่ายน้ำ" ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด สมัยก่อนคนไทยไม่นิยมทำกัน กลัวอะไรหลายๆ อย่าง วัฒนธรรมไทยๆ ไม่ค่อยทำกัน การออกกำลังกายนี้บอกได้ว่า นอกจากดีต่อการคลอดแล้ว ยังช่วยทำให้ปอด หัวใจ กล้ามเนื้อ กระดูก ส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ สันหลังมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดี
แต่มีข้อแม้หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ โรคเลือดจาง โรคต่อมไทรอยด์ ต้องปรึกษาแพทย์ และอย่าลืมต้องมีการอบอุ่นร่างกาย (Warm up) และผ่อนร่างกายให้เย็นลง (Cool down) อย่างเป็นระบบด้วยจะดีมาก
อีกเรื่องคือการเตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วย "นมแม่" ให้ดื่มอย่างเดียวและต่อเนื่อง 6 เดือน มีความสำคัญที่สุดเป็น "อาหารทิพย์" ครบทุกหมู่ของลูก สร้างภูมิคุ้มกันโรค ภูมิคุ้มกันชีวิต ที่เรียกว่า โคลอสตรัม (Colostrum) เป็นสายสัมพันธ์แห่งรักของแม่ที่มีต่อลูกด้วยไออุ่น "สายใยรัก" ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาล "สายใยรักแห่งครอบครัว" ที่มีคุณภาพ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ถึงระดับตำบล ในการให้การดูแลแม่และเด็ก "คุณภาพ" รองรับอยู่
สรุปว่า การเตรียมตัวเป็นคุณแม่ยุคใหม่ (3G) คือการดูแลเอาใจใส่สุขภาพทั้งของตัวเองและลูกในครรภ์ให้ดี เพื่อลูกจะได้เกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง เติบโตเป็น "ทรัพยากรมนุษย์" ที่มีคุณภาพของครอบครัว ให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ
โครงการ "ฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์" สื่อมวลชนและชาวบ้านทุกหัวระแหง ชื่นชมและปรบมือแสดงความขอบคุณ ในการริเริ่มนโยบายที่ดีเช่นนี้ของรัฐบาล สมกับการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ย่อมรู้ซึ้งว่า คุณค่าความเป็น "แม่" ของ "เด็ก" ที่มีคุณภาพ มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านสุขภาพของ "ทรัพยากรมนุษย์" ที่จุติใหม่จากมิติกาย ใจ สังคมสู่จิตวิญญาณ
เชื่อว่า โครงการนี้มีอานิสงส์ใหญ่หลวงต่อการสร้าง "ความเท่าเทียม" กันของหญิงตั้งครรภ์ของผู้หญิงยุคใหม่ได้ฝากท้องเร็ว ได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ ถูกใจทุกคน สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ...ไงเล่าครับ
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 28 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 138 views