บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Service หรือ EMS) คือ บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ ณ จุดเกิดเหตุจนถึงโรงพยาบาล
การเจ็บป่วยฉุกเฉินครอบคลุมทั้งอุบัติเหตุ(Accident) หายนภัย (Mass Casualty) และการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บเช่น หมดสติจากหลอดเลือดในสมองแตก หัวใจวายจากหัวใจขาดเลือด ช็อกจากการตกเลือดหรือท้องร่วงอย่างแรง เป็นต้น
ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพจะช่วยลดการสูญเสียจากความพิการหรือการตายลงได้มาก เพราะสามารถให้การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง นำส่งโรงพยาบาลอย่างถูกต้องและรวดเร็ว มีการประสานกับโรงพยาบาลให้เตรียมรับผู้ป่วยอย่างเหมาะสมแต่เนิ่นๆ
ตัวอย่างเช่น นักกีฬาบาดเจ็บจากการปะทะมีกระดูกสันหลังหัก แต่กระดูกยังไม่ทิ่มทำลายไขสันหลัง วิธีการช่วยเหลือที่มักกระทำกันแต่ก่อน คือ เข้าไปอุ้มนักกีฬาออกจากสนาม ซึ่งมีโอกาสสูงที่กระดูกสันหลังที่หักจะไปทิ่มทำลายไขสันหลังจนทำให้เกิดอัมพาตทันที จึงเป็นสิ่งต้องห้าม การช่วยเหลือที่ถูกต้องจะป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงได้
คริสโตเฟอร์ รีฟ ดาราผู้แสดงเป็นซูเปอร์แมนประสบอุบัติเหตุตกม้า คอหัก กระดูกคอที่หักทิ่มทำลายไขสันหลังตรงต้นคอจนเกือบขาดเขาหมดสติและหยุดหายใจไปประมาณ 2-3 นาที แต่ได้รับการช่วยเหลือจากทีมกู้ชีพอย่างถูกต้อง ทำให้รอดชีวิตมาได้ และยังสามารถทำประโยชน์ได้มากมาย ทั้งสร้างและกำกับภาพยนตร์ และรณรงค์หาทุนทำงานการกุศลสาธารณประโยชน์เพื่อวงการแพทย์และสาธารณสุขมากมายได้อีกราว 9 ปี จึงเสียชีวิต
เมื่อราวสามสิบกว่าปีมาแล้วผู้เขียนไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น ได้ไปดูบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วย พบว่าญี่ปุ่นสร้างระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินไว้อย่างดียิ่ง มีรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ คนขับ และพนักงานกู้ชีพ พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยอยู่กับสถานีดับเพลิง รถพยาบาลเหล่านี้เรียกใช้ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเรียกรถแท็กซี่เสียอีก
ประเทศไทยมีความพยายามในการสร้างระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินมานาน โดยมีบริการหลักใน 3 ส่วน คือ 1) บริการรถพยาบาลของโรงพยาบาลซึ่งมักทำหน้าที่ "ส่งต่อผู้ป่วย" (Refer) เป็นหลัก ทำหน้าที่ "การแพทย์ฉุกเฉิน" (Emergency Medical Service หรือ EMS) บ้าง 2) บริการของมูลนิธิสาธารณกุศล เช่น ป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินเช่นเดียวกับ 3) บริการขององค์กรในพื้นที่ เช่นอปพร. บริการเหล่านี้ช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังต้องพัฒนาอีกมากในเรื่องต่างๆ เช่น 1) การครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ2) คุณภาพของรถพยาบาล อุปกรณ์ และบุคลากรกู้ชีพประจำรถ 3) การเชื่อมโยงประสานกับโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ 4) ปัญหาธรรมาภิบาลของระบบ เช่น การเลือกส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลที่มีการจ่ายใต้โต๊ะ แทนที่จะส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และการที่โรงพยาบาลไม่ยอมรับผู้ป่วย อ้างเหตุ "เตียงเต็ม" เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีความพยายามขยายระบบ "รถพยาบาล" เป็นระบบ "การแพทย์ฉุกเฉิน" โดยการตั้ง "ศูนย์นเรนทร" ซึ่งให้บริการประชาชนได้ดีพอสมควร แต่อยู่ในวงจำกัด
เมื่อเกิดระบบ"บัตรทอง" และ สปสช.ขึ้นผู้ที่ทำงานเรื่องนี้มานานเห็นเป็น"โอกาส" ที่จะพัฒนาระบบนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงมีการเสนอขอใช้งบประมาณจากระบบบัตรทองเพื่อนำไปพัฒนาระบบนี้ แต่เนื่องจากเมื่อเริ่มระบบบัตรทองใหม่ๆ รัฐบาลตกลงให้ค่าบริการ "เหมาจ่ายรายหัว" เพียง 1,202 บาท ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญบางท่านวิจารณ์ว่าต่ำเกินไป ไม่เพียงพอ อาจทำให้คุณภาพบริการตกต่ำ แต่โชคดีที่ขณะนั้น นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ได้รับความไว้วางใจทั้งจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบบัตรทอง จึงเสนอให้"เจียดเงิน" จากค่าเหมาจ่ายรายหัวไปคนละ10 บาท ซึ่งทุกฝ่ายไม่มีใครขัดข้อง เพราะเห็นว่า "แค่ 10 บาท เท่านั้น" แต่เมื่อคูณจำนวนประชากรราว 45 ล้านคน ทุนประเดิมสำหรับงานนี้จึงเป็นกอบเป็นกำถึงราว 450 ล้านบาท
ปัญหาแรกที่เกิดขึ้น คือ "การต่อสู้สองแนวทาง" ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการเป็น "พระเอก" สร้างระบบรถพยาบาล "ชั้นเลิศ" ขึ้น กับ สปสช. ซึ่งต้องการสร้าง "ความเป็นธรรม" (Equity) ด้วยการพัฒนาระบบพื้นฐานให้กระจายไปทั่วประเทศ
แนวคิดของกระทรวงสาธารณสุข คือ มุ่งจัดหารถพยาบาลตามมาตรฐาน "สากล" ทั้งตัวรถ อุปกรณ์ และบุคลากร ซึ่งคงทำได้จำนวนไม่มาก ให้บริการคนไข้ได้จำกัด ข้อสำคัญจะผูกโยงระบบไว้กับโรงพยาบาลเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะนำเงินไปซื้อเรือ "โฮเวอร์คราฟท์" ราคาร่วมร้อยล้านเพื่อให้บริการที่เกาะแห่งหนึ่งด้วยขณะนั้นทางฝ่าย สปสช. คือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะเห็นว่าจะมีผลเพียงการสร้างภาพลักษณ์หรือโฆษณาหาเสียงเป็นหลัก แต่บริการประชาชนได้จำนวนน้อย เป็นผลให้ปีแรกงบประมาณที่เจียดมาเพียงหัวละ 10 บาท ใช้ไปเพียง 6 บาทเท่านั้นและเป็นเช่นนั้นถึง 3 ปีติดต่อกัน
โครงการจัดหารถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ในที่สุดก็ "หางโผล่" มีการทุจริต"ล็อกสเปก" เป็นข่าวฉาวโฉ่ จนต้องมีการล้มเลิกการจัดซื้อครั้งนั้นและจัดซื้อใหม่ โดยพยายาม "ปลดล็อก" ให้มีการแข่งขันได้ แต่ผู้เสียผลประโยชน์ก็กลับมาขัดขวางในลักษณะ"ขโมยร้องจับขโมย" กล่าวหาผู้ที่พยายามจัดซื้ออย่างโปร่งใสว่าจะซื้อรถพยาบาลมาตรฐานต่ำ จนเกิดการร้องเรียนวุ่นวายกันอยู่นานกว่าเรื่องจะยุติเรื่องดังกล่าวชมรมแพทย์ชนบทได้ออก "สมุดปกแดง" สรุปเรื่องราวและเสนอหลักฐานเอกสารการล็อกสเปกอย่างชัดเจนแต่เรื่องก็เงียบหายไปจนบัดนี้...
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 สิงหาคม 25567
- 15 views