ประชุมเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 21 วันที่สองคึกคักกว่า 2,000 คน ร่วมระดมความเห็นอะไรคือการลงทุนที่ดีที่สุดทางสุขภาพ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ชูการลงทุนสุขภาพ เท่ากับความเจริญประเทศ เน้นเท่าเทียม เป็นธรรม เข้าถึง แนะต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยง สุรา บุหรี่ ยาเสพติด อาหารก่อโรคอ้วน สร้างนโยบายให้เกิดการมีส่วนร่วม รัฐต้องวางแผนลงทุนสุขภาพในทุกช่วงวัย
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ศูนย์การประชุมพีช พัทยา จ.ชลบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 (The 21th IUHPE World Conference on Health Promotion2013) ซึ่งประเทศไทยได้รับคัดเลือกจากสมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา (The International Union of Health Promotion and Education : IUHPE) ให้เป็นเจ้าภาพการประชุมภายใต้หัวข้อ “การลงทุนที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพ (Best Investments for Health)” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-29 ส.ค.นั้น โดยมีหัวข้อการประชุมหลักที่น่าสนใจคือ “อะไรคือการลงทุนที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพ (What are the best investments for health?) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนทั้งภาคนโยบาย นักวิชาการ นักวิจัย และนักรณรงค์ กว่า2,000 คน จาก 80 กว่าประเทศทั่วโลก
โดย ศ.แอนน์ มิลส์ นักเศรษฐศาสตร์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ประเทศไทย ในการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งล่าสุด กล่าวว่า การลงทุนที่ดีที่สุดเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ได้หมายความแค่ผลประโยชน์ในเชิงผลผลิตหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หมายถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในสังคมที่สูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วย ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางสุขภาพ โดยได้ปรับปรุงนโยบายด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย โดยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายทางสุขภาพ ให้มีหน่วยงานที่วิเคราะห์ความคุ้มค่าเพื่อประเมินมาตรการทางสุขภาพหรือการประเมินเทคโนโลยีทางสุขภาพใหม่ๆ เช่น องค์กร NICE ของสหราชอาณาจักร หรือประเทศไทยก็มีองค์กร เช่น โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) เป็นต้น
“ตัวอย่างการปรับปรุงเรื่องการลงทุนด้านสุขภาพของทั่วโลกเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 โดยเกิดการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม การส่งเสริมสถาบันครอบครัว การปรับปรุงการลงทุนภาครัฐด้านสุขภาพ การสนับสนุนงบประมาณและสร้างมาตรฐานด้านสาธารณสุข ทั้งการควบคุมโรคติดต่อ การป้องกันโรคเอดส์ มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม เช่น การดื่มแล้วขับ เป็นต้น ถือเป็นความท้าทายในการลงทุนด้านสุขภาพโดยมีการวิจัยที่สนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพให้ประชากรของโลกมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย และใจ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกประเทศควรให้ความสำคัญเป็นอับดับหนึ่ง” ศ.แอนน์ กล่าว
ศ.แดเนียล เวินสต็อก สถาบันนโยบายสาธารณสุขและสังคม มหาวิทยาลัยแม็คกิลล์ มอนเตรอาล ประเทศแคนาดากล่าวถึงจริยธรรมด้านสาธารณสุข ว่า การดำเนินงานด้านสาธารณสุขควรมีจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้ประชาชนได้มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและสามารถตัดสินใจที่จะมีสุขภาพที่ดีได้ นโยบายด้านสาธารณสุขที่ดีต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางสังคม และสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้ร่วมทำงานและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ซึ่งชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการนำนโยบายต่างๆ ไปใช้และปรับให้สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ จึงจะสามารถทำให้นโยบายด้านสาธารณสุขสามารถขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน
ศ.จอห์น แฟรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนโยบายด้านสาธารณสุขแห่งสก็อตแลนด์ กล่าวถึงการลงทุนในระดับโลกที่ดีที่สุดสำหรับความเท่าเทียมกันทางสุขภาพ ว่า การลงทุนทางสุขภาพจำเป็นต่อคนทุกช่วงวัย โดยการลงทุนในช่วงขวบปีแรก จำเป็นต้องทำให้เข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการวางแผนให้ประชากรตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และอาจต้องให้สิทธิพิเศษสำหรับพ่อแม่ เช่น ภาษี การลาหยุด สำหรับประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ ไม่ให้ความยากจนเป็นตัวขัดขวางการเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการลงทุนสำหรับการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน จำเป็นต้องสร้างการเข้าถึง การบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การสร้างเสริมสุขภาพโดยให้ความรู้ประชาชน ควบคู่ไปกับ มาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการควบคุมด้านการตลาด เช่น การตลาดของธุรกิจยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด และอาหารที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ส่วนในวัยผู้ใหญ่ ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ได้สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม